หารือร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เสนอ เพื่อให้มีหน่วยงานหลักของประเทศที่จะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติที่บูรณาการการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการพัฒนามนุษย์ รวมทั้งเป็นการกำหนดกรอบมาตรฐานการศึกษาชาติ วางแผนการผลิตกำลังคนของชาติที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้ข้อเสนอแนะในการของบประมาณด้านการศึกษาและพัฒนามนุษย์ ตลอดจนให้ความเห็นชอบกฎหมาย ตลอดจนการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย การกำกับ ติดตามและประเมินผลการพัฒนาการศึกษาและพัฒนามนุษย์ให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ แทน สกศ.ในอนาคต
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ" โดยมี "คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ (คศม.)" ประกอบด้วยกรรมการ 25 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติเป็นเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว
ที่ผ่านมา สกศ.ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.นี้มีความรอบคอบและชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมครั้งนี้ได้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าควรปรับแก้ โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล เช่น การให้คณะกรรมการสภาการศึกษาทำหน้าที่คณะกรรมการนี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ต้องไม่เกิน 180 วัน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าสามารถให้ประธาน รองประธาน และกรรมการที่มาจากผู้แทนองค์กร ทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติไปพลางก่อนได้ เพราะองค์ประกอบขาดเพียงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น
ส่วนข้อเสนอของกรรมการบางท่านในการจัดตั้งสถาบันวิจัย เพื่อทำหน้าที่วิจัยด้านการศึกษาและพัฒนามนุษย์นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้รวมอยู่ในกลุ่มนิติการของสำนักงานฯ โดยอาจเพิ่มบุคคลดำเนินการด้านการวิจัยโดยเฉพาะ และให้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการวิจัยที่มีอยู่แล้ว เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แล้วให้นำเสนอที่ประชุมพิจารณาครั้งต่อไป
รับทราบความก้าวหน้าการกำหนดขนาดห้องเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
จากมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5/2558 ได้เห็นชอบให้มีการกำหนดขนาดห้องเรียนใหม่ โดยปรับขนาดห้องเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาเป็น 30 คนต่อห้องเรียน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายเป็น 40 คนต่อห้องเรียน โดยมีกรอบการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อลดขนาดห้องเรียนของโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มขนาดห้องเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนปรับขนาดห้องเรียนให้มีความเหมาะสมและใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยข้อมูลในปีการศึกษา 2557 พบว่ามีโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวนทั้งสิ้น 30,922 โรง แบ่งเป็น 7 ขนาด คือ
ขนาดที่ 1 จำนวนนักเรียน 120 คนลงมา จำนวน 15,506 โรงเรียน
ขนาดที่ 2 จำนวนนักเรียน 121-200 คน จำนวน 6,728 โรงเรียน
ขนาดที่ 3 จำนวนนักเรียน 201-300 คน จำนวน 3,669 โรงเรียน
ขนาดที่ 4 จำนวนนักเรียน 301-499 คน จำนวน 2,368 โรงเรียน
ขนาดที่ 5 จำนวนนักเรียน 500-1,499 คน จำนวน 1,944 โรงเรียน
ขนาดที่ 6 จำนวนนักเรียน 1,500-2,499 คน จำนวน 386 โรงเรียน
ขนาดที่ 7 จำนวนนักเรียน 2,500 คนขึ้นไป จำนวน 321 โรงเรียน
โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อปรับขนาดห้องเรียนให้เหมาะสม คือ วางแผนการปรับขนาดห้องเรียนให้เหมาะสมและใกล้เคียงกันมากขึ้นใน 5 ปี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายกระดับและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กเดิมให้เป็นโรงเรียนขนาดกลาง ตลอดจนปรับลดขนาดห้องเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษให้เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีการประสานสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ในการปรับเกณฑ์นักเรียนต่อห้องเรียน รวมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างค่านิยมใหม่ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเชื่อมั่นโรงเรียนดีใกล้บ้าน และสร้างค่านิยมใหม่ให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ยอมรับที่จะปรับขนาดโรงเรียนให้เหมาะสม
รับทราบความก้าวหน้าการยกเลิกการสอบ LAS ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558
ขณะนี้ สพฐ.ได้แจ้งให้เขตพื้นที่การศึกษารับทราบเกี่ยวกับ การยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานการศึกษา (Local Assessment System : LAS) ในระดับชั้น ป.2 ป.4-5 ม.1-2 และ ม.4-5 พร้อมทั้งแจ้งผ่านทางระบบ Examination Process Communication Channel : EPCC ซึ่งเป็นระบบสื่อสารการประเมินกับเขตพื้นที่การศึกษา และได้ดำเนินการพัฒนาระบบการประเมินผลระหว่างเรียน (Formative Assessment) 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) พัฒนาคลังข้อสอบมาตรฐาน (Item Banks) 2) พัฒนาโปรกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอบออนไลน์ (Online Testing System) 3) พัฒนาศักยภาพครูในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลในชั้นเรียน เช่น การสร้างแบบสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัยตามแนวการทดสอบระดับนานาชาติ การประเมินความสามารถด้านการคิด 4) จัดทำเอกสารส่งเสริมและพัฒนาการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
4/6/2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th