วันนี้ (9 มิ.ย 58) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ในการพิจารณาหารือแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขในมาตราใดบ้าง ส่วนการหารือประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีในวันนี้เป็นการหารือในประเด็นหลักๆ ว่าเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านการพิจารณาและถ้าจำเป็นต้องร่างใหม่ใครจะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะนำเรื่องเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของ กมธ. ก็ดำเนินการทำประชามติ และทำกฎหมายต่อไปตามระยะเวลาในโรดแมป และนำไปสู่การเลือกตั้งตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้
2. เรื่องการเตรียมการทำประชามติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง รัฐบาลมีหน้าที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นตอนการทำประชามติ ถ้าหากมีการแก้ไขเพื่อทำประชามติจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 6 สิงหาคม 2558 สำหรับงบประมาณในการทำประชามติประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องมาให้รัฐบาลพิจารณาก่อน
3. การปฏิรูปประเทศไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลชุดต่อไปต้องปฏิรูปตามแผนของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้ดำเนินการปฏิรูปไว้แล้ว เช่น การปฏิรูปในส่วนของโครงสร้าง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐ รวมทั้งการบูรณาการการทำงานในกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกันให้ทำงานร่วมกัน และรัฐบาลชุดใหม่ต้องดำเนินการต่อยอดให้ประสบความสำเร็จมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
4. สถานการณ์น้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง เบื้องต้นมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกสูงสุดเกิน 140 มิลลิเมตร ทั้งนี้ ต้องไปดูเรื่องการเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำฝนว่ามีปัญหาตรงไหน รวมถึงสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาเครื่องระบายน้ำใช้งานไม่ได้ การอุดตันของขยะ เป็นต้น ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมในการบริหารจัดการ โดยได้สั่งการให้หน่วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและในพื้นที่ต่างจังหวัดว่ามีพื้นที่เสี่ยงอยู่ตรงไหนและให้กองทัพลงพื้นที่เฝ้าสถานการณ์ในการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สำหรับปัญหาเรื่องอื่นต้องมีการตรวจสอบกันอีกครั้ง พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันตรวจสอบการทำงาน แต่จะให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดผู้ว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้ เพราะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
5. กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ นายชาญวิทย์ วสยางกูร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และนายพรศักดิ์ เจียรณัย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลย มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนของการพิสูจน์ สอบสวน ตามกระบวนยุติธรรม
6. การลงพื้นที่ปฏิบัติราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดระยองในวันที่ 10 มิถุนายน 2558 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การลงพื้นที่ปฏิบัติราชการในจังหวัดดังกล่าวเพื่อติดตามงานปลูกป่าและดูการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเยี่ยมเยือนประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาต่าง ๆ และให้กำลังใจข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่
ที่มา: http://www.thaigov.go.th