วันนี้ (9 มิ.ย.58) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเกี่ยวกับกรณีที่ได้มีการมอบหมายงานให้กับกระทรวง ทบวง กรม ไปถอดงานของแต่ละกระทรวง โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ว่า ในแต่ละกระทรวงมีงานอะไรบ้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาโรดแมปขั้นทที่ 2 เพราะฉะนั้นจึงต้องการให้แต่ละกระทรวงกลับไปพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่ได้วางแผนปฏิบัติการไว้ได้มีการดำเนินการและมีความคืบหน้าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ทั้งนี้ แต่ละกระทรวงต้องไปกำหนดมาว่าในระยะที่ 1 ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการในเรื่องใดมาแล้วบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงนั้น ๆ ส่วนระยะที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเข้ามาได้ดำเนินการในเรื่องใดบ้าง และมีเรื่องใดที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อจะได้ส่งต่อให้รัฐบาลชุดต่อไปในช่วงที่ 3
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีที่มีฝนตกหนักเมื่อวานนี้(8มิ.ย.58) และมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลส่งผลให้การจราจรติดขัดและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมากนั้น เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครจะต้องดูแลรับผิดชอบไปตามสถานการณ์ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยว่ามีปัญหาข้อขัดข้องหรือติดขัดในเรื่องใด รวมทั้งมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของ คสช.ที่จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้นั้น นายกรัฐมนตรี ก็ได้มอบหมายให้ คสช. คือฝ่ายความมั่นคงได้จัดเตรียมแผนและมอบหมายงานให้กับเหล่าทัพในการที่จะช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการจราจรติดขัด โดยจะต้องมีการจัดเตรียมแผนงานรองรับไว้หากพื้นที่ใดอาจต้องใช้รถรับส่งประชาชนเช่นเดียวกับกรณีที่ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อครั้งที่เกิดปัญหาน้ำท่วมปี 2554 ที่ผ่านมา เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ โดยแผนการดำเนินการดังกล่าวของ คสช.จะเป็นปฏิบัติงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร
ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข่าวในเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้นั้น เป็นเพียงแค่กรณีของการศึกษาการปรับวิธีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ว่าจะกลับมาใช้แบบเดิมหรือไม่ โดยการกำหนดให้พื้นที่แต่ละจังหวัดซึ่งมีคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องสภาวการณ์ค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานในแต่ละพื้นที่ แทนการกำหนดเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ทั้งนี้ความจริงแล้วการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นหน้าที่และอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วยไตรภาคีร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ผู้ใช้แรงงาน นายจ้างและฝ่ายรัฐ โดยฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่าย แต่อย่างไรก็ตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างก็เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นให้คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดได้กลับไปศึกษาเพื่อจะกำหนดแนวทางปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ ทั้งสิ้น จึงขอให้ประชาชนและสังคงอย่าได้วิตกกังวลต่อกรณีดังกล่าวจนเกินไป แต่ด้วยที่นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในเรื่องนี้จึงได้สั่งการเพิ่มเติมให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการกำหนดอัตราค่าจ้างที่ต่ำเกินไปจะทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่มีหลักประกัน ขณะเดียวกันหากค่าจ้างสูงจนเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคเศรษฐกิจทั้งหมด รวมทั้งอาจจะกดดันให้นายจ้างลดหรือเลิกการใช้แรงงานไป ซึ่งจะส่งผลกระทบกลับมาสู่แรงงานในที่สุดและยังเป็นแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นและอาจจะส่งผลต่ออัตราค่าจ้างแรงงานในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายมองเพียงเรื่องของตัวเลขอย่างเดียวแต่ควรจะพิจารณาผลในมิติอื่น ๆ ประกอบด้วย
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th