ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวว่า การที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 เป็นโอกาสดีที่ ASEAN COST จะได้มีบทบาทแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอาเซียน และควรมีแผนที่นำทางการดำเนินงานของ ASEAN COST สำหรับการประชุมระดับผู้นำในปลายปี 2558 ด้วย ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (The ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation: APASTI) ปี 2016-2025 เพื่อจะได้แผนงานที่มีคุณภาพ ระบุวิสัยทัศน์ ภารกิจ และแผนงานที่ชัดเจน และเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับ ASEAN COST ในอนาคต รวมทั้งให้ผู้นำได้ตระหนักว่า ASEAN COST ได้ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอาเซียนด้วย
การประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 นั้น ศาตราจารย์ Ainun Na'im ปลัดกระทรวงการวิจัย เทคโนโลยีและการอุดมศึกษา ประเทศอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 โดยมีหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนที่รับผิดชอบงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม รวม 130 คน สำหรับประเทศไทย รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยสรุปสาระสำคัญของที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาในหัวข้อต่างๆ 4 เรื่อง ดังนี้
1. ความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะที่ปรึกษาด้านแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี (Advisory Body of ASEAN Plan of Action on Science and Technology : ABAPAST)
1.1) ที่ประชุมรับรองข้อเสนอแนะของ ABAPAST ดังนี้
1.1.1) การเปลี่ยนระยะเวลาการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation: APASTI) จากปี 2015-2020 เป็น ปี 2016-2025 เพื่อให้สอดคล้องกับ AEC Post-2015 Attendant Document
1.1.2) การปรับเป้าหมายของ APASTI ใน 6 เรื่อง ดังนี้
1) ASEAN Science, Technology and Innovation (STI) addressing the Grand Challenges of the new millennium
2) Economically integrated ASEAN involving active collaboration between the public & private sectors especially SMEs and enhanced mobility of talents
3) Deep awareness of STI & the beneficial impacts of STI on the bottom of the pyramid
4) An innovation-driven economy with a deep STI enculturation and a system of seeding and sustaining STI by leveraging ICT and the resources of our talented young, women and private sectors
5) Active R&D collaboration, technology commercialisation and entrepreneurship and network of centres of excellence
6) An enhanced STI management system in the new AEC so as to support ASEAN Innovation reaching global markets and that promotes innovation, integration and narrowing of development gaps across AMS
1.1.3) การจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้แก่ที่ปรึกษาที่ว่าจ้างจัดทำ APASTI จำนวน 16,000 เหรียญสหรัฐฯ จะดำเนินการเมื่อได้มีการปรับแก้ไข APASTI โดยกลุ่มย่อยซึ่งมีประเทศไทยเป็นผู้นำ ร่วมกับประเทศสิงคโปร์ สำนักเลขาธิการอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียน และที่ปรึกษา
1.2) ที่ประชุมรับทราบว่ากลุ่มย่อยที่จะปรับแก้ไขร่าง APASTI จะมีการพบหารือระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ กรุงเทพฯ โดยกำหนดให้ร่าง APASTI แก้ไขเรียบร้อยภายในกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ และเวียนให้ ABAPAST และคณะอนุกรรมการอาเซียนทุกคณะพิจารณาให้ความเห็น โดย APASTI ฉบับสุดท้ายจะได้เสนอให้ที่ประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 70 ให้การรับรอง และเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน ครั้งที่ 16 ซึ่งกำหนดจัดในเดือนพฤศจิกายน 2558 ณ สปป.ลาว ให้ความเห็นชอบ
1.3) ที่ประชุมรับทราบว่ากลุ่มย่อยที่จะปรับแก้ไขร่าง APASTI จะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำกลยุทธ์ APASTI 2016-2025 ด้วย และเสนอให้รวมฐานข้อมูลการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ของอาเซียน ไว้ในแผนปฏิบัติการของ APASTI 2016-2025 ด้วย
1.4) ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าผลการศึกษาสถานภาพการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของอาเซียน (ASEAN Talent Mobility: ATM) ที่ริเริ่มโดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ จากผลการจัดประชุม The 3rd ASEAN Talent Mobility Workshop ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรมมูเว่นพิค รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากแบบสำรวจ 39 รายการ จาก 5 ประเทศ ที่ได้รับ พอสรุปข้อมูลเบื้องต้นได้ว่ามีการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน มีระยะเวลาไม่เกินสองเดือน โดยแรงจูงใจที่สำคัญของการเคลื่อนย้ายจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน เช่น การดำเนินความร่วมมือ การรักษาเครือข่ายนักวิชาการ การทำวิจัย ทั้งนี้ที่ประชุม ATM เสนอให้มีการจัดทำระบบลงทะเบียน และการจัดตั้งศูนย์บริการเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยอาเซียน
2. กองทุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Science, Technology and Innovation Fund: ASTIF)
2.1) ที่ประชุมรับทราบว่าสถานะเงินกองทุน ณ วันที่ 31 เมษายน 2558 มีเงินจำนวน 11,448,370.46 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีเงินดอกเบี้ยที่สามารถใช้สนับสนุนกิจกรรมของ ASEAN COST และคณะอนุกรรมการ จำนวน 913,152.45 เหรียญสหรัฐฯ
2.2) ที่ประชุมรับรองข้อเสนอแนะของ ABASF ดังนี้
2.2.1) ให้คงจำนวนเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ไว้ในบัญชีกระแสรายวัน ส่วนจำนวนเงินที่เหลือให้โอนฝากบัญชีประจำ
2.2.2) จะมีการส่งข้อเสนอโครงการสองครั้งต่อปีเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน โดยกำหนดให้ส่งข้อเสนอโครงการสองเดือนล่วงหน้าก่อนการประชุม ASEAN COST ซึ่งหัวข้อที่จะให้ความสำคัญจะระบุเมื่อ APASTI 2016-2025 ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียนแล้ว
2.3) ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอแนะของ ABASF ดังนี้
2.3.1) ABASF จะจัดทำเกณฑ์/แนวทาง สำหรับข้อริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน โดยได้พิจารณาเกณฑ์เบื้องต้น ได้แก่
-ข้อเสนอโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนควรเกี่ยวข้องกับการปกป้องและจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้เสนอกับสถาบัน
-ข้อเสนอโครงการต้องมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อยสามประเทศสมาชิกอาเซียน โดยหนึ่งคนต้องมาจากกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) และมีผู้ร่วมสนับสนุนจากภาคเอกชนและ/หรือ ประเทศคู่เจรจา ร่วมด้วย
2.3.2) จะมีการหารือเรื่องข้อเสนอการจัด Crowd-funding Workshop เสนอโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการประชุม Sub-Committee on Science and Technology Infrastructure and Resources Development (SCIRD) ครั้งต่อไป ซึ่งจะขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนด้วย
2.4) ที่ประชุมเห็นพ้องให้ ABAPAST และ ABASF ได้ร่วมกันทบทวนการจัดการเงินกองทุนเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีความเสี่ยงน้อย
3. กิจกรรมความร่วมมือของคณะอนุกรรมการ (Sub-Committees)
ที่ประชุมรับทราบสถานะและพิจารณาข้อเสนอโครงการความร่วมมือของคณะอนุกรรมการอาเซียนในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการที่ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน/ริเริ่มข้อเสนอโครงการใหม่ ดังนี้
3.1 คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยไมโครอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Sub-Committee on Microelectronics and Information Technology: SCMIT)
3.1 คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยไมโครอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Sub-Committee on Microelectronics and Information Technology: SCMIT)
3.1.1) ที่ประชุมชื่นชมผลการดำเนินโครงการระบบแปลภาษาอัตโนมัติของประเทศสมาชิกอาเซียน (Network-based ASEAN Language Translation for Public Service) ที่เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติร่วมกับนักวิจัยจากประเทศสมาชิกอาเซียน ทำการวิจัยและพัฒนาระบบแปลภาษาอัตโนมัติของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างประชากรในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นการใช้งานในภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอาเซียนโดยรวม ทั้งนี้ประเทศไทยได้สาธิตการทำงานของระบบแปลภาษาอัตโนมัติให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งระบบสามารถแปลภาษาในอาเซียนระหว่างกันโดยตรงได้ และมีประสิทธิภาพดีกว่าการแปลภาษาโดยอัตโนมัติที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นตัวกลางในการแปลดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3.1.2) ที่ประชุมรับทราบว่า SCMIT จะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อในระยะที่สอง ซึ่งมีเป้าหมายการแปลในด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา เป็นต้น และจะขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาเซียน (ASTIF) หรือประเทศคู่เจรจา
3.2) คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี (Sub-Committee on Materials Science and Technology: SCMST)
ที่ประชุมยินดีรับข้อเสนอของประเทศไทยในการใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อทำการวิจัยร่วมกันและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และรับทราบว่าปัจจุบันประเทศมาเลเซียและเวียดนาม ได้ใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอนในการวิจัย และพัฒนาบุคลากร
3.3) คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยการวิจัยพลังงานอย่างยั่งยืน (Sub-Committee on Sustainable Energy Research: SCSER)
3.3.1) ที่ประชุมสนับสนุนข้อเสนอโครงการใหม่ในการจัดตั้งเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อการสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Networking for Enhancement of Awareness of Consequences of Nuclear Power Plant Accidents) ที่เสนอโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยขอให้หารือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนว่าโครงการนี้จะเป็นกิจกรรมภายใต้ SCSER หรือไม่ และขอให้ปรับข้อเสนอโครงการให้มุ่งเน้นประเด็นการวิจัยด้านพลังงานมากกว่าประเด็นความปลอดภัยทางด้านพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ SCSER
3.3.2) ที่ประชุมสนับสนุนข้อเสนอโครงการใหม่ในการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนการวิจัยด้านชีวมวล (ASEAN Network on Biomass Open Research: ANBOR) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชีวมวล พลังงานชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน ที่เสนอโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยขอให้จัดทำข้อเสนอโครงการในรายละเอียดที่ครอบคลุมการดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ภาคเอกชน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ ที่ประชุมเสนอให้โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN Biofuel Flagship Program ในระยะต่อไป
3.4 คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Sub-Committee on Science and Technology Infrastructure and Resources Development: SCIRD)
3.4.1) ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรวิทยา (The Expert Group on Metrology: EGM) ที่มีสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ประเทศไทย เป็นประธาน จัดเตรียมแผนที่นำทาง (roadmap) และแผนปฏิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (Quality Infrastructure) เพื่อสนับสนุน ASEAN Post - 2015 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตและสินค้าส่งออกของอาเซียน โดยขอให้ EGM ประสานการดำเนินงานร่วมกับกลุ่ม ASEAN Consultative Committee on Standard and Quality (ACCSQ)
3.4.2) ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของประเทศไทย เรื่องการรับรองบุคลากรอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Certification for Personnel on Science and Technology) ที่เสนอโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของ APASTI ในการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากร และจะมีการจัดตั้งคณะทำงานการรับรองบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อกำหนดสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเบื้องต้นต่อไป สำหรับการรับรองบุคลากรต่อไป โดยขอให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อผู้แทนเข้าร่วมในคณะทำงานให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบ ภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2558
3.4.3) ที่ประชุมรับทราบว่าประเทศไทยได้เริ่มโครงการ "Grand Challenges Thailand" เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงเทพฯ เพื่อวิจัยและพัฒนาในประเด็นท้าทายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ APASTI ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในโครงการ ASEAN Grand Challenges ต่อไป
3.5 คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ (Sub-Committee on Space Technology and Applications: SCOSA)
3.5.1) ที่ประชุมให้การรับรองขอเสนอการจัดตั้ง "ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้แห่งอาเซียน "หรือ "ASEAN Research and Training Center for Space Technology and Applications (ARTSA) ที่เสนอโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ซึ่งจะจัดตั้งในพื้นที่ของอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรและการวิจัย พัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ของอาเซียน โดย สทอภ. จะให้การสนับสนุนสถานที่ บุคลากร และงบประมาณสำหรับการบริหารงานของศูนย์ฯ ในช่วงสี่ปีแรกของการก่อตั้ง สำหรับในส่วนของการจัดฝึกอบรม จะขอรับการสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและงบประมาณ จากหน่วยงานผู้ให้ทุน ประเทศคู่เจรจา และจากประเทศสมาชิกเอง
3.5.2) ที่ประชุมรับทราบการนำเสนอผลการดำเนินโครงการร่วมกลุ่มดาวเทียมเสมือนเวียดนาม-ไทย "ASEAN EOS Virtual Constellation: Joint Program between VNREDSat-1 and Thaichote Systems" ซึ่งเป็นโครงการนำร่องสำหรับความร่วมมือระบบดาวเทียมเสมือนอาเซียน โดยใช้ดาวเทียมไทยโชติ และดาวเทียม VNREDSat-1 ระบบดาวเทียมเสมือนอาเซียนประกอบด้วยดาวเทียมที่ต่างชนิดกันหรือจากระบบที่แตกต่างกัน สามารถรองรับการวางแผนสั่งถ่ายภาพ และเผยแพร่ข้อมูลภาพดาวเทียมแก่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประเทศไทยได้เชิญชวนประเทศสมาชิกอื่นๆ ทั้งที่มีดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมขนาดเล็ก หรือมีข้อมูลสำรวจระยะไกลแบบอื่นๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มดาวเทียมเสมือน เพื่อจะได้นำข้อมูลมาใช้งานได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.5.3) ที่ประชุมรับทราบข้อกังวลของ SCOSA ที่ SCOSA ไม่ได้ปรากฏอยู่ใน APASTI และโดยที่เรื่องการสำรวจระยะไกลและระบบสำรวจโลก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลายๆ ด้าน ที่ประชุมขอให้กลุ่มย่อยที่จะพิจารณา APASTI ฉบับสุดท้าย ทบทวนประเด็นนี้ด้วย
4. ข้อเสนอและประเด็นความร่วมมืออื่นๆ ที่ประเทศไทยมีบทบาทในการผลักดัน
4.1) การพัฒนาความร่วมมือด้านดาราศาสตร์โดยเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Astronomy Network: SEAAN)
ที่ประชุมรับทราบการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ โดยเครือข่าย SEAAN โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งความร่วมมือในกรอบSEAAN จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในแขนงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และช่วยเสริมสร้างเครือข่ายความเป็นเลิศในอาเซียนด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมยินดีให้ความร่วมมือ ในกรอบ SEAAN อยู่ในภารกิจของ SCOSA ในอนาคต และเห็นพ้องให้ SCOSA ศึกษาและพิจารณาสาขาดาราศาสตร์ เป็นสาขาสำคัญสาขาหนึ่ง
4.2) การจัดงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Science, Technology and Innovation (STI) Forum)
ที่ประชุมยินต่อข้อริเริ่มของประเทศไทยในการจัด ASEAN STI Forum ในปี ๒๕๕๙ ที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นำเสนอผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาเซียน สร้างความตระหนักในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอาเซียน และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนอาเซียน โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียน ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา จากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ประมาณ 500 คน ซึ่งประเทศไทยจะนำเสนอข้อมูลในรายละเอียดในการประชุม ASEAN COST ครั้งต่อไป ณ สปป.ลาว ในช่วงปลายปี 2558
4.3) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เรื่อง ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำของอาเซียน (STI Workshop on ASEAN Water Resource Management System)
ที่ประชุมรับทราบผลและเป้าหมายของการจัดประชุม เรื่อง ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำของอาเซียน ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรมมูเว่นพิค รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาข้อมูลน้ำและสภาพภูมิอากาศร่วมกัน ก่อนจะเป็นก้าวต่อไปที่จะนำข้อมูลน้ำและข้อมูลสภาพภูมิอากาศไปใช้ติดตามและคาดการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน โดยจะแจ้งความก้าวหน้าในการประชุม ASEAN COST ครั้งต่อไป
การจัดประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 69 ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จด้วยดีตามที่คาดการณ์ไว้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้การสนับสนุนข้อริเริ่ม/ข้อเสนอโครงการความร่วมมือใหม่ที่ประเทศไทยเสนอในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างความตระหนักในผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน การจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนการวิจัยด้านชีวมวล การจัดทำแผนที่นำทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ การจัดตั้งศูนย์อบรมและวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้แห่งอาเซียน ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ การจัดประชุมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมั่นใจว่าบทบาทและความร่วมมือดังกล่าว จะส่งผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งต่อไป
ข้อมูลโดย : สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
วีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3727-3732
โทรสาร 02 333 3834
E-Mail : pr@most.go.th
facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th