รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ลิฟต์ที่ใช้ในงานก่อสร้างโดยทั่วไปจะเป็นงานก่อสร้างในอาคารสูง ซึ่งเป็นลิฟต์ที่ใช้ในการส่งคน (ลิฟต์โดยสาร หรือ Passenger lift) และวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Passenger lift เป็นลิฟต์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของบุคลากรที่ทำงานอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจากเป็นการเคลื่อนที่ในแนวดิ่งที่มีความสูง การสร้างลิฟต์โดยทั่วไปเป็นการสร้างใช้งานชั่วคราว และความต้องการในการประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากการนำเข้าลิฟต์ประเภทนี้จากต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้เกิดความละเลยมาตรฐานด้านความปลอดภัย จากการที่ได้เห็นข่าวการเสียชีวิตจากลิฟต์ก่อสร้างหลายๆ ครั้ง
เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการทำงานของระบบลิฟต์โดยสารสำหรับงานก่อสร้าง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงให้การสนับสนุน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย และ บริษัท คอนสโก เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาระบบลิฟต์โดยสารสำหรับงานก่อสร้าง ที่สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 2,000 กิโลกรัม และเคลื่อนที่ได้ 30-40 เมตร/นาที เพื่อทดแทนการนำเข้า ช่วยลดดุลการค้าของประเทศ ทั้งนี้คาดว่าเครื่องจักรดังกล่าวสามารถลดต้นทุน นำเข้า และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ในราคาชุดละประมาณ 3 ล้านบาทเมื่อมีการผลิตอยู่ในสายการผลิตอย่างแท้จริง ในขณะที่เครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาจำหน่ายประมาณ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ความสำเร็จในการพัฒนาลิฟต์ก่อสร้างนี้ ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างเทคโนโลยีของไทย เกิดการพัฒนาแรงงานในประเทศ สร้างศักยภาพเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตในประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถสร้างมาตรฐาน ความปลอดภัยให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมไทยอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่
เนตรนภา สารสร้อย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
ส นักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
โทร. 0 2333 3924 โทรสาร 0 2333 3931
e-mail : netnapa@most.go.th
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th