นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามงานโครงการอ่างน้ำเก็บกักน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2015 17:18 —สำนักโฆษก

วันนี้ (10 มิ.ย. 58) เวลา 12.40 น. ณ ห้องประชุมโครงการอ่างน้ำเก็บกักน้ำประแสร์ บ้านแก่งหวาย หมู่ 6 ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังบรรยายสรุปโครงการเพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บน้ำประแสร์ โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ประธานกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายงานวัตถุประสงค์และสรุปภาพรวมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าส่วนราชการภาคตะวันออกเข้าร่วมรับฟัง

สำหรับโครงการอ่างน้ำเก็บกักน้ำประแสร์ มีลักษณะเป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่นแบบแบ่งโซน ความจุอ่างฯ ที่ระดับเก็บกักน้ำ ประมาณ 248 ล้าน ลบ.ม. ระดับตัวเขื่อนความยาวประมาณ 2.50 กม. ความสูง 24.00 ม. มีพื้นที่ชลประทานได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 175,000 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกับเก็บและระบายน้ำ รัฐบาลจึงได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำประแสร์ จำนวนเงิน 64,600,000 บาท โดยดำเนินการติดตั้งบานระบายน้ำแบบพับได้ ความสูง 1.00 ม. บนสันฝายแบบ Ogee (ฝายซึ่งมีลาดด้านท้ายน้ำของสันฝายเป็นรูป Ogee คือ เป็นรูปโค้งที่เกิดจากเส้นโค้งที่กลับทางกันสองเส้นนำมาต่อกัน) บานระบาย 4 ช่วงๆ ละ 18.09 ม. ความยาว 72.36 ม. พร้อมอุปกรณ์ปรับระดับบาน โดยใช้กระบอกไฮดรอลิกในการควบคุม และเทคอนกรีตเสริมเหล็ก ความหนา 0.75 ม. บนพื้นอาคารรับน้ำเดิมของอาคารระบายน้ำล้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วเร็วกว่าแผนงาน 7.629% มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มระดับเก็บกักขึ้นอีก 1.00 เมตร เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำประแสร์ จากเดิม 248 ล้าน เป็น 295 ล้าน ลบ.ม.ทำให้มีความจุเพิ่มขึ้น 46.50 ล้าน ลบ.ม.

ทางด้าน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ประธานกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายงานวัตถุประสงค์และสรุปภาพรวมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ปัญหาหลักในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกคือการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค รวมถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เกาะ สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 263 หมู่บ้านที่ยังไม่มีระบบประปาภายในปี พ.ศ. 2560 2.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตโดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการเดิม 100 ล้าน ลบ.ม พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ รวม 1,000 ล้าน ลบ.ม 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย พัฒนาระบบระบายน้ำทางผันน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนสำคัญ และ 4.การบริหารจัดการเน้นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้ในระดับที่พอใจ โดยต้องการให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำระดับสากลมาปรับใช้เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีความสะอาด โดยเฉพาะแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก และเปลี่ยนผู้ปลูกเป็นผู้ค้าแทนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตร

สำหรับการจัดสรรทรัพยากรน้ำ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องจัดสรรน้ำรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมเรื่องการกักเก็บน้ำ นายกรัฐมนตรีต้องการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำแห่งใหม่ ลักษณะแบบทะเลสาบน้ำจืด เช่น บึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำไปสำรวจพื้นที่ราชพัสดุ หรือที่ดินของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ดินของประชาชนที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมาทำเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งใหม่เพื่อกักเก็บน้ำและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงระบบการทำงานของหน่วยงานราชการว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน และต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่น และขาดความศรัทธาต่อการทำงานของข้าราชการ เพราะฉะนั้นข้าราชการทุกคนต้องมีความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นและเรียกศรัทธาจากประชาชนคืนกลับมาให้ได้ พร้อมกับกล่าวเสนอแนะว่าข้าราชการต้องปรับเปลี่ยนการทำงานต้องร่วมมือกับภาคเอกชน อำนวยความสะดวกเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดการพึ่งพารัฐบาล สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ เพื่อทำท่อลอดคลองจากแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่พื้นที่การเกษตรตำบลสาวชะโงก ตำบลเสม็ดเหนือ และตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 180 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบการขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปศึกษาโครงการเพื่อดำเนินการต่อไป จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการ และกล่าวปราศรัยกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับ ก่อนตรวจดูความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำประแสร์

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

นราวุธ/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ