นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 19 ) มีมติให้ยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2559 และจะนำระบบค่าจ้างแบบลอยตัวมาบังคับใช้นั้น ขอชี้แจงว่า มติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาไม่ได้มีการพิจารณาหรือมีมติยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะใช้ในปี2559 นั้น คณะกรรมการค่าจ้างได้ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างจังหวัดซึ่งมีโครงสร้างมาจากไตรภาคีของแต่ละจังหวัด มีความเป็นอิสระและมีอำนาจในการตัดสินใจในข้อมูลเป็นของตนเอง พิจารณาปัจจัยจากข้อมูล ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา โดยจะได้ข้อสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้
สำหรับการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มาจากข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ของจังหวัด ก่อนเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา แม้ว่าแต่ละจังหวัดจะมีข้อเสนอซึ่งมีองค์ประกอบค่อนข้างคล้ายคลึงกันแต่บางจังหวัดก็อาจมีข้อเสนอเพิ่มเติมแตกต่างมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่อำนาจคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดที่จะพิจารณาปรับได้ตามอำเภอใจ
อนึ่ง ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงมกราคม – มีนาคม 2558 ตรวจพบสถานประกอบกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 251 แห่ง และมีลูกจ้างได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จำนวน 2,483 คน พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติให้ถูกต้อง จำนวน 239 แห่ง และดำเนินคดีอีก จำนวน 4 แห่ง สำหรับอีก 7 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th