กรมการขนส่งทางบกประมูลทะเบียนรถตู้และรถกระบะทางอินเตอร์เน็ต www.tabienrod.com น รายได้มาใช้รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการใช้รถใช้ถนน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 9, 2015 17:47 —สำนักโฆษก

'โฆษกแรงงาน' ยืนยัน ข่าวยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ‘ไม่เป็นความจริง’ ย้ำชัด กม.กำหนดให้ไทยยังมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เผยกรอบเวลา อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดรวมข้อมูลส่งให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองวิเคราะห์ภายในมิถุนายนนี้ ก่อนส่งคกก.ค่าจ้างพิจารณาทราบผลปลายตุลาคม 58 เผย คำนึงปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม ยึดการทำงานบน‘หลักธรรมมาภิบาล’นำพาประเทศเจริญก้าวหน้า แนะแรงงานพัฒนาฝีมือให้มีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวเรื่องการยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทในขณะนี้ว่า เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการประชุมสัมมนางานวิจัยเรื่องค่าจ้างลอยตัวในประเทศไทย โดยผลการสัมมนายังไม่ได้ข้อยุติ จากนั้นภายหลังการประชุมมีข่าวเผยแพร่ออกมาว่ามีการยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำและใช้รูปแบบค่าจ้างแบบลอยตัว ซึ่งยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ปัจจุบันกฎหมายยังคงกำหนดให้ประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่และใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนด คือ จะต่ำกว่าอัตรา 300 บาท/วัน ไม่ได้ สำหรับการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 นั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถิติข้อมูลรวมถึงปัจจัยประกอบทั้งดัชนีค่าครองชีพ มาตรฐานการครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของผู้ประกอบการ และผลิตภาพแรงงานมาประกอบกัน จากนั้นส่งข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลางซึ่งมีคณะกรรมการวิชาการและกลั่นกรองวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านที่มาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากนั้นผลสรุปที่ได้จะเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นผลหรือทิศทางของค่าจ้างจะทราบผลสรุปในราวปลายเดือนตุลาคม ทั้งนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเป็นอัตราเท่าใดด้วยรูปแบบวิธีการใด ก็จะมาจากการประมวลวิเคราะห์จากข้อมูลทั้งหมดอย่างรอบด้านดังกล่าว

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการค่าจ้างมาจากไตรภาคี เป็นตัวแทนจากฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง มีความเท่าเทียมกันทุกฝ่ายต่างมีความรู้และความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ทำงานด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้บนหลักธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตามยืนยันว่าโดยหลักการแล้วค่าจ้างจะไม่ต่ำกว่า 300 บาทแน่นอน ขณะเดียวกันตัวแรงงานเองก็ต้องมีการพัฒนาฝีมือตนเองเพื่อให้ได้ค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องเร่งรัดพัฒนาให้แรงงานไทยมีฝีมือมากขึ้นเพื่อให้ได้ประกอบอาชีพและมีรายได้สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

" การดำเนินการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำควรต้องมีความละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีผลกระทบ

ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นค่าจ้างที่ออกมาต้องอยู่บนพื้นฐานของระบบธรรมาภิบาลที่ดีและสามารถ

ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้" รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ