ในเวทีการประชุมดังกล่าว นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวคณะผู้แทนของกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “การพัฒนาของไทยที่สอดรับกับความร่วมมือ GMS” โดยกล่าวว่าพัฒนาการของ GMS ภายใต้ “วิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน" จากอดีต ปัจจุบัน ถึงอนาคตที่การพัฒนาร่วมกันของกลุ่มประเทศ GMS จะเกิดขึ้นแบบทันที (Real Time) จากการสื่อสารที่รวดเร็วและความเชื่อมโยงระหว่างประเทศแบบไร้พรมแดน (Borderless) โดยอาศัยแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) ที่ทำให้มี “วิสัยทัศน์ในการเชื่อมโยงกัน” เป็น 5C ได้แก่ 1) Connectivity การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง 2) Competitiveness การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันการค้า การลงทุน 3) Community การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 4) Culture วัฒนธรรมเพื่อสร้างความสอดประสานกันทางวัฒนธรรมของผู้คนในอนุภูมิภาค 5) Collaboration การร่วมมือกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน
สำหรับประเทศไทยได้เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี พ.ศ.2558 และสอดคล้องกับกรอบความร่วมมือ GMS (กรอบอนุภูมิภาค) โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะใกล้ (Quick Win) เน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าการลงทุนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดน และการลงทุน การให้สิทธิประโยชน์จากการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การจัดเตรียมความพร้อมทางด้านพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน (การคมนาคมขนส่ง) และสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service : OSS) เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว ในการเข้ามาลงทุนใน SEZ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล ที่สำคัญคือ การพัฒนาเส้นทางเชื่อมรถไฟในระยะเร่งด่วน 2 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1) อรัญประเทศ – ปอยเปต และ 2) หนองคาย - เวียงจันทน์ - คุนหมิง และการลดขั้นตอนและระยะเวลาการผ่านแดน ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross Border Transport Agreement : CBTA)
ในระยะยาว (Big Win) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการพัฒนาแหล่งพลังงาน การระดมทุน และสิทธิประโยชน์และส่งเสริมการลงทุน โดยคำนึงถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือในการเพิ่มศักยภาพให้เพียงพอ การระดมทุนต้องมีความร่วมมือจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมให้ความสนับสนุนตาม “แผนปฏิบัติการลงทุน” (Regional Investment Framework : RIF) และการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาค ซึ่งการลงทุนของเอกชนเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความเจริญในระเบียงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) การเพิ่มศักยภาพให้กับ SME เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งหมดเป็นกรอบการพัฒนาของไทยที่สอดรับกับความร่วมมือ GMS ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศให้ดีขึ้นและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค สุดท้าย รองปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมในครั้งนี้ คาดหวังอย่างยิ่งให้การประชุมในครั้งนี้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งสู่ความร่วมมือในทศวรรษที่ 3 ของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ GMS ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th