ก.อุตฯ ติวเข้มจัดการกากอุตสาหกรรมทุกจังหวัด คิกออฟเมืองปากน้ำที่แรก “ อรรชกา” ลั่นนำกากอุตฯ เข้าระบบเพิ่ม แก้ปัญหาลอบทิ้งที่ต้นทาง

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2015 16:38 —สำนักโฆษก

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ โดยมีผู้เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการโรงงานในจังหวัดเข้าร่วมการสัมมนา ว่า นโยบายการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะกากอุตสาหกรรมอันตรายหากลักลอบทิ้งจะเป็นอันตรายต่อประชาชนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบสถานประกอบการ ได้จัดทำโครงการอุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ ทำให้การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยจะเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

“จังหวัดสมุทรปราการ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดระยอง โดยรายได้หลักของจังหวัดส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 49 ของรายได้ทั้งหมด และมีจำนวนโรงงาน 7,355 โรงงาน ซึ่งข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมภายในจังหวัดต่อปีมีประมาณ 1,6 ล้านตัน แบ่งเป็น กากของเสียที่ไม่อันตราย 1.25 ล้านตัน และกากของเสียที่อันตราย 3.5 แสนตัน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการสามารถนำกากของเสียเข้าสู่ระบบการจัดการได้แล้วประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 75 ของปริมาณกากทั้งหมด ส่วนกากของเสียที่อันตรายคาดว่ายังไม่เข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง มีเหลือประมาณ 6 หมื่นตันต่อปี ซึ่งเรื่องนี้มีความจำเป็นที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องช่วยกำกับดูแล และเข้มงวด ในการนำกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรมปะปนกับขยะชุมชน หรือแอบไปทิ้งฝังกลบรวมในบ่อขยะของเทศบาล” ปลัดอรรชกา กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายในการนำกากของเสียที่เป็นอันตราย จำนวน 1.5 ล้านตัน เข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง และให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทั้งหมดเข้าสู่ระบบด้วยการอบรม ให้ความรู้ ความเข้าใจ และทราบถึงบทลงโทษหากดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นที่แรก ก่อนขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมสำหรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปีข้างหน้า อย่างน้อย 6 พื้นที่ และจะนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม มูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมลงทุนกับรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะเดียวกันในปีนี้ยังจะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบังคับให้ผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรม ต้องติดตั้งระบบ GPS ทุกคัน และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้งกาก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ