รมว.พม.ขานรับนโยบายแก้ปัญหาเด็กแว๊นสก๊อยเร่งหามาตรการป้องกันและฟื้นฟู พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและประสบปัญหาทางสังคม ที่ จ.อุดรธานี และสุโขทัย

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2015 17:21 —สำนักโฆษก

เมื่อวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๑๗๔/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยการมั่วสุมแข่งรถจักรยานยนต์ (เด็กแว๊น-สก๊อย)ในถนนสาธารณะ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างมาก และนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)ได้มีนโยบายให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเพิ่มมาตรการการป้องกัน โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปหาแนวทางการป้องกันปัญหาดังกล่าวนั้น กรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้แบ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าร่วมหรือกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่มีพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม โดยเด็ก/เยาวชนที่กระทำผิดมีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีจะอยู่ในความรับผิดชอบของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเด็ก/เยาวชนที่กระทำผิดอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมคุมประพฤติ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริม พัฒนา คุ้มครองเด็กและเยาวชน จะดำเนินการเชิงมาตรการการป้องกันและมาตรการการฟื้นฟู เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่กลุ่มที่มีพฤติกรรม ไม่เหมาะสมหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน ดังนี้ มาตรการป้องกัน (สำหรับกลุ่มเสี่ยง)จะมี ๒ กิจกรรม คือ ๑)การฝึกอบรมแกนนำสภาเด็กและเยาวชน เพื่อให้ความรู้และตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน และสภาเด็กและเยาวชน ๗๗ จังหวัดจะไปดำเนินการจัดกิจกรรมหรือพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชน และ ๒)การฝึกอบรมหลักสูตรการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง ให้ความรู้เรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๕๖ กับผู้ปกครองและอาจารย์ ในการอบรมเลี้ยงดู สั่งสอนเด็ก มาตรการฟื้นฟู (สำหรับกลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม) นั้น กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จะประสานความร่วมมือกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมควบคุมประพฤติ ในการร่วมกระบวนการฝึกอบรมหรือจัดทำกระบวนการคุ้มครองเด็กอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน รวมทั้งจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชาย อายุ ๓๔ ปี เนื่องจากผู้ต้องหาบุกรุกใช้อาวุธมีดจี้เด็กหญิง อายุ ๑๓ ปี พยายามข่มขืนกระทำชำเรา แต่ไม่สำเร็จ สืบทราบภายหลังว่าเป็นอดีตสามีใหม่ของแม่ที่เลิกรากันไป ที่จังหวัดอุดรธานี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุดรธานี (พมจ.อุดรธานี)ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กหญิงและครอบครัวโดยด่วน และกรณีเด็กหญิง อายุ ๑๑ ปี ยอดกตัญญู เลี้ยงดูพ่อ อายุ ๕๓ ปี และย่า อายุ ๗๒ ปี ที่นอนป่วยเป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องปั่นจักรยานระยะทาง ๒ กม.จากโรงเรียน กลับบ้านช่วงพักเที่ยง เพื่อนำข้าวที่ขอจากวัดไปให้พ่อกับย่า ทางบ้านมีฐานะยากจน ที่จังหวัดสุโขทัย นับเป็นเด็กกตัญญูซึ่งตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุโขทัย (พมจ.สุโขทัย)ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กหญิงในระยะยาวต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ