สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ร่วมประชุมสานต่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) สมาพันธรัฐสวิส และสถาบันเดซี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการ สซ. เปิดเผยว่า “ตามที่ สซ. สวทช. ศฟ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบัน Deutsches Elektronen-Synchrotron (DESY) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ซึ่งได้ดำเนินการตามความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง มีสัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะได้รับการถ่ายโอนความรู้เฉพาะด้านของระบบลำเลียงแสง และมีความร่วมมือหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (Student Exchange Program) ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สถาบันเดซี ได้ร่วมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากว่า 10 ปี โดยให้การสนับสนุนนักศึกษาไทยที่ศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติการวิจัย ณ สถาบันเดซี ทุกปี เพื่อให้มีโอกาสพัฒนาด้านงานวิจัยกับสถาบันระดับโลกอย่างสถาบันเดซี การประชุมสานต่อความร่วมมือเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา มีผู้บริหาร ฝ่ายไทยนำโดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการ สซ. รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. และ ดร.วิภู รุโจปการ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการหารือความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ได้ข้อสรุปแนวทางความร่วมมือระหว่างกันหลายประการ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ทางด้านเทคนิควิศวกรรม และระบบลำเลียงแสง อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านซินโครตรอน โดยได้มีการประชุมประเมินผลการดำเนินโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี และเห็นชอบให้มีการต่อโครงการดังกล่าว ระยะที่ 2 ด้วยจำนวนนักศึกษาปีละ 4 ทุน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ สซ. ได้มีโอกาสเข้าร่วม RACIRI Summer School 2015 จำนวน 1 ทุน และจะมีการจัดตั้ง DESY Summer Program Alumni Group ต่อไป”
“นอกจากนี้ คณะผู้บริหารดังกล่าวยังได้มีการเดินทางไปสานต่อความร่วมมือกับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ “เซิร์น” หนึ่งในสถาบันวิจัยทางฟิสิกส์ชั้นนำของโลกที่นักวิทยาศาสตร์หัวกะทิของมนุษยชาติไปรวมตัวกันค้นหาคำตอบของจักรวาลผ่านอนุภาคเล็กๆ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนพระทัยในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเซิร์น เห็นได้จากการที่พระองค์ท่านเสด็จเยือนเซิร์นถึง 4 ครั้ง และทางเซิร์นได้กราบบังคมทูลถวายทุนให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศไทยไปศึกษาดูงานที่เซิร์น 12 ทุน โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเซิร์น 3 ทุน และครูสอนฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น 3 ทุน นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับทุนร่วมสัมผัสประสบการณ์การทำงานกับนักวิจัยระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้ในการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองต่อไป ซึ่งคณะกรรมการจะคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพและคุณสมบัติเหมาะสม นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย จากการหารือความร่วมมือเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ณ เซิร์น ในครั้งนี้ ได้มีแนวทางที่ประเทศไทยจะมีความร่วมมือ ในกรอบ 7 initiatives ของ CERN ได้แก่ 1)การออกแบบ Medical Accelerator 2) การพัฒนา Biomedical Facility 3) Detectors and Beam Control 4) Diagnosis and Dosimetry for Radiation Control 5) Radio-isotopes and Imaging 6) Large Scale Computing (Therapy Planning) 7) Others Related to Medical Applications และ จะเน้นความร่วมมือในการอบรมนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก หรือ Postdoc และยิ่งไปกว่านั้นยังจะได้มีการลงนาม MOU ระหว่าง สซ. กับ Accelerators for Medical Applications Project ของ CERN ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป” ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการ สซ. กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1601,1252 โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: sasipun@slri.or.th, pr@slri.or.th
เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
เบอร์โทรศัพท์ 02-333-3700 ต่อ 3727-3732 โทรสาร 02-333-3834
ที่มา: http://www.thaigov.go.th