1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการบริหารจัดการในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ กทม. ซึ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ และได้มอบให้ รฟม. กทม. กระทรวงการคลัง และ บ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) เร่งเจรจาเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อนำเสนอ คจร. ต่อไป
2. โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช - วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร มอบให้ สนข. ศึกษาและออกแบบรายละเอียด โดยศึกษาเรื่องสัญญาสัมปทาน การดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ และการชดเชยผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย การเชื่อมต่อการเดินทางทั้ง 2 โครงข่ายจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกและได้รับประโยชน์ในการเดินทาง ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งจะทำให้เกิดโครงข่ายทางพิเศษที่มีความสมบูรณ์ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์คมนาคมพหลโยธินกับท่าอากาศยานดอนเมือง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 2 บรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณถนนกำแพงเพชร ลดความแออัดในระบบทางพิเศษ ตลอดจนเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสิ่งของยังชีพและการกู้ภัย กรณีเกิดอุทกภัยบนพื้นราบ
3. การสำรวจอัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ส่วนบุคคลในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2557 สรุปภาพรวมของสภาพการจราจรในปี 2557 มีปัญหาการจราจรติดขัดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจดทะเบียนรถใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครช่วงปี 2555 - 2556 เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐ กรณีการคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรก ซึ่งจากการสำรวจอัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนสายหลักต่าง ๆ ไม่รวมบนถนนวงแหวนชั้นใน (รัชดาภิเษก) ในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2557 พบว่า อัตราความเร็วเฉลี่ยฯ ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าประมาณ 15.8 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลดลงเฉลี่ยประมาณ 0.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือร้อยละ 1.3 ขณะที่ความเร็วเฉลี่ยฯ ในช่วงเวลาเร่งด่วนเย็นประมาณ 22.4 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลดลงประมาณ 0.9 กม./ชม. หรือร้อยละ 3.8
4. การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่ประชุมฯ มอบให้ สนข. พิจารณาความเหมาะสม และผลกระทบของการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า เพื่อทดแทนการดำเนินโครงการทางพิเศษ ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 และ N3 รวมทั้งศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องได้อย่างเหมาะสม โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2560 เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการต่อไป
5. การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาค สนข. ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2559 เพื่อดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมือง จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และสงขลา (หาดใหญ่) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในระยะเร่งด่วนต่อไป
6. ผลการดำเนินงานตามมติ คจร. ครั้งที่ 1/2553 ในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
6.1 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ ระยะทางรวม 107.2 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ มีแผนเปิดให้บริการในปี 2559 สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ และหัวลำโพง - บางแค มีแผนเปิดให้บริการในปี 2562 สายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ มีแผนเปิดให้บริการในปี 2561 สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ - รังสิต มีแผนเปิดให้บริการในปี 2562 และสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ และช่วงสะพานใหม่ - คูคต ลงนามในสัญญาก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว กำหนดงานโยธาแล้วเสร็จในปี 2561
6.2 โครงการที่พร้อมประกวดราคาในปี 2558 จำนวน 6 โครงการ ระยะทางรวม 144 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีชมพู ช่วงแคราย - ปากเกร็ด - มีนบุรี สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - บางกะปิ - มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - พัฒนาการ - สำโรง สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน และช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ Airport Rail Link ส่วนต่อขยายบางซื่อ - พญาไท และดอนเมือง - บางซื่อ
6.3 โครงการที่พร้อมประกวดราคาในปี 2559 จำนวน 4 โครงการ ระยะทางรวม 58.3 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ - บางปู สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ - ราษฎร์บูรณะ สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน - ศูนย์วัฒนธรรม และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา
6.4 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยาย ช่วงบางใหญ่ - ไทรน้อย ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มเติมจากแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยเป็นไปตามข้อเสนอของประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่อเนื่อง
"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th