ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) อันดับที่ 100 อย่างเป็นทางการ

ข่าวทั่วไป Monday June 15, 2015 16:13 —สำนักโฆษก

วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ในระหว่างการประชุมใหญ่ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร (Customs Co-operation Council Sessions) ประจำปี 2558 ขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์/หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป และดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นตัวแทนประเทศไทย ในพิธียื่นภาคยานุวัติสารเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน (International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedures) หรืออนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) (Revised Kyoto Convention) อย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของไทย แล้ว ต่อนายคูนิโอะ มิคุริย่า (Mr. Kunio Mikuriya) เลขาธิการองค์การศุลกากรโลก

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า อนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) เป็นแนวทางปรับปรุงพิธีการศุลกากรที่องค์การศุลกากรโลกออกแบบมาเพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้ให้เป็นมาตรฐานสากล เรียบง่าย และสอดคล้องกันระหว่างประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ปัจจุบันมีภาคี สมาชิก 99 ประเทศ ซึ่งประเทศในอาเซียนที่เข้าเป็นภาคีแล้วได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกลำดับที่ 100

          นอกจากนี้ การเข้าเป็นภาคีและนำแนวปฏิบัติตามอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) มาปรับปรุงพิธีการศุลกากร ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางศุลกากรและอำนวยความสะดวกทาง การค้าให้ผู้ประกอบการรวมถึงคู่ค้าของไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลมากขึ้น อันจะส่งผลในการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ ของไทย ทั้งนี้ กรมศุลกากร          ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ อาทิ การให้คำวินิจฉัยล่วงหน้าของศุลกากร (Advance Ruling) มีผลผูกพันทางกฎหมายใน 3 ด้าน คือ พิกัดศุลกากร ราคา และถิ่นกำเนิดของสินค้าก่อนการนำเข้าเพื่อสร้างความเป็นธรรม เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และขจัดข้อโต้แย้งระหว่างผู้นำเข้าและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก อาทิ การเพิ่มบทนิยามคำว่า “การผ่านแดน” และ “การถ่ายลำ” ไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนมีการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการให้การนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ใน การศุลกากรมีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการดำเนินการทางศุลกากรโดยเอกสาร เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ปรับปรุงใหม่เหล่านี้ จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และยกระดับการดำเนินงานด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยให้มีมาตรฐานที่เป็น สากลมากยิ่งขึ้น

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ