นายแพทย์วีระพันธ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกครั้งนี้ประกอบด้วย 8 หน่วยงานระดับกระทรวง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร จับมือกันจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยสาระสำคัญของ MOU นี้คือ 1.การร่วมมือดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และป้องกันควบคุม ประชาสัมพันธ์ โรคไข้เลือดออกในกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบ รวมถึงรณรงค์เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) ในวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี 2.ความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือในด้านทรัพยากร วิชาการ และการบริหารจัดการ 3.บันทึกความร่วมมือนี้อาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เพื่อความเหมาะสม หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งแปดหน่วยงาน 4.บันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2558 ถึง 15 มิถุนายน 2562
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง “โรคไข้เลือดออก” จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 3,024 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค 4 ภาค รวม 24 จังหวัด สำรวจระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 5 มิถุนายน 2558 จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญพบว่า ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกอยู่ในเกณฑ์ดี กล่าวคือ ร้อยละ 89.8 รับรู้ว่ายุงลายเป็นพาหะไข้เลือดออก และร้อยละ 89.4 รู้ว่าผู้ใหญ่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ รวมถึงหากมีอาการไข้สูงลอย ซึม เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออกตามแขนขา (อาการของโรคไข้เลือดออก) ร้อยละ 76.9 ตอบว่าควรรีบไปพบแพทย์ มีเพียงร้อยละ 7.7 ที่ตอบว่าปล่อยให้หายเอง แต่ประชาชนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคไข้เลือดออก โดยร้อยละ 42.6 ตอบว่า มียาฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออกเป็นการรักษาตามอาการและถึงแม้จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ก็ยังอยู่ระหว่างการทดลอง
สำหรับเรื่องพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชนยังอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเห็นได้จากวิธีการจัดการลูกน้ำยุงลายในชีวิตประจำวันยังไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยการทำความสะอาดรอบบ้าน พบร้อยละ 45.7 ที่ทำเป็นประจำทุก 7 วัน, ร้อยละ 41.0 ทำบ้าง, การปิดฝาโอ่ง/ถังน้ำ มีเพียงร้อยละ 36.6 ทำเป็นประจำทุก 7 วัน, ร้อยละ 49.7 ทำบ้าง, ส่วนการใส่ทรายกำจัดลูกน้ำมีเพียง ร้อยละ 18.6 ที่ทำเป็นประจำทุก 7 วัน, ร้อยละ 50.1 ทำบ้าง, รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.7 ยังมีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเป็นกำลังหลักในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก รองลงมาคิดว่าตัวเองควรเป็นกำลังหลัก ร้อยละ 31.2
“ในโอกาสนี้ ขอฝากเตือนประชาชนทุกคนว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ทำให้เกิดแอ่งน้ำหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ ภาชนะต่างๆ จานรองกระถางต้นไม้ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ ซึ่งปี 2558 นี้ กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา หากไม่ร่วมมือกันควบคุมอย่างเข้มแข็งอาจจะมีผู้ป่วย 60,000–70,000 ราย จากเมื่อปี 2557 ที่มีผู้ป่วย 40,999 ราย ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันรณรงค์ในกิจกรรม BIG CLEANING DAY “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมการเก็บ คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาดปลอดโปร่งโล่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บน้ำให้สนิทมิดชิดไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3.เก็บขยะเศษภาชนะรอบๆบ้านและชุมชนที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งการรณรงค์ให้ชุมชนปลอดโรคไข้เลือดออกนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป โดยร่วมมือกันทำกิจกรรมในพื้นที่ 6 ร. ดังนี้ 1.โรงเรือน(บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย
วันที่ 15 มิถุนายน 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th