แนวทางการพัฒนาระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้

ข่าวทั่วไป Tuesday June 16, 2015 16:31 —สำนักโฆษก

นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พิจารณา (ร่าง) รายงานการวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการศึกษาวิจัย โดยมี ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางการศึกษา วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และทีมงานเป็นผู้จัดทำรายงานการวิจัย ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้จะช่วยเติมช่องว่างสำหรับเด็กด้อยโอกาส เด็กที่เรียนในที่ห่างไกล เช่น บนเกาะ บนดอย หากต้องหยุดเรียนไปกลางคัน หรือเรียนไม่ครบตามหลักสูตร เด็กบางคนต้องไปช่วยงานทางบ้าน ทำให้เรียนไม่จบ เมื่อจำเป็นจะต้องใช้วุฒิการศึกษา จะได้สามารถนำหน่วยที่เคยเรียนมาเติมเต็มได้ ระบบนี้ก็จะช่วยเด็กเหล่านี้ได้ สำหรับบางคนอาจไม่ต้องการเรียนในระบบ ต้องการเรียนแบบอื่นที่เหมาะสมกับตัวเขา อาจเป็นเด็กเก่ง เขารู้ว่าต้องการอะไร ตนมีศักยภาพอะไร วิธีนี้สามารถช่วยในการเทียบโอนได้ นอกจากนี้เรื่องวิชาชีพในบางประเทศที่พัฒนาแล้วการทำงานจะไม่ได้พิจารณาจากวุฒิเป็นสำคัญ แต่จะใช้ประสบการณ์ ทักษะความสามารถในการทำงานเป็นตัวกำหนดในการจ้างหรือการให้เงินเดือน บางคนมีวุฒิสูงแต่ไม่สามารถทำงานได้ หรือมีฝีมือเหมือนคนที่มีวุฒิต่ำกว่าแต่มีประสบการณ์ได้ทำงานมาโดยตรง การเทียบแบบกรอบคุณวุฒิวิชาชีพจึงต้องนำมาเชื่อมโยง ซึ่งจากงานวิจัยนี้จะได้ทราบว่าองค์ความรู้ที่จะเชื่อมโยงและนำไปสู่การปฏิบัติ กลุ่มเป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน และผู้รับผิดชอบอย่างไร

ผศ.ดร. พิณสุดา สิริธรังศรี กล่าวโดยสรุปว่า งานวิจัยนี้ได้ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการรองรับผลการเรียน การเทียบโอนผลการเรียน การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ และระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ของหน่วยงานการศึกษาในประเทศไทย และระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ของต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และเครือออสเตรเลีย ผลการศึกษาพบว่า ควรจัดให้มีหน่วยงานกลางสะสมหน่วยการเรียนรู้เป็นองค์กรอิสระ และบริหารโดยคณะกรรมการมีหน้าที่ อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแนวทางการสะสมหน่วยการเรียนรู้ การเทียบโอนผลการเรียน ความรู้และประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้งเป็นคลังสะสมหน่วยการเรียนรู้และรับรองหน่วยการเรียนรู้ของผู้เรียนและขอเทียบโอนผลการเรียนทั้งในและต่างประเทศ วิจัยและพัฒนาการสะสมหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานสะสมการเรียนรู้ การเทียบโอนผลการเรียน และผลการเรียนรู้ของสถานศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย

สำหรับหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาขึ้นพื้นฐาน มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแนวทางการสะสมหน่วยเรียนรู้ การเทียบโอนผลการเรียนและผลการเรียนรู้ของสถานศึกษาในสังกัดที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ฯ ที่หน่วยงานกลางสะสมหน่วยการเรียนรู้กำหนด รวมทั้งกำกับดูแลการสะสมหน่วยการเรียนรู้ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตลอดจนรายงานผลการเทียบโอนต่อหน่วยงานกลาง

ในด้านสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่จัดให้มีคณะกรรมการสะสมหน่วยการเรียนรู้เพื่อสะสมหน่วยการเรียนรู้ เทียบโอนผลการเรียนและผลการเรียนรู้ จัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ดำเนินการเทียบโอนผลการเรียนและผลการเรียนรู้ รับรองหน่วยการเรียนรู้ของผู้เรียนและผู้ขอเทียบโอนผลการเรียนภายในสถานศึกษา รวมถึงรายงานผลการเทียบโอนผลการเรียนต่อองค์กรกลางสะสมหน่วยการเรียนรู้และต้นสังกัด

ส่วนผู้เรียน ผู้ขอเทียบโอน มีหน้าที่เก็บและรวบรวมผลการเรียนและผลการเรียนรู้ที่เป็นความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ทำงาน การฝึกอบรม ฝึกอาชีพเพื่อรับการเทียบโอน อีกทั้งขอเทียบโอนผลการเรียนและผลการเรียนรู้จากองค์กรกลางสะสมหน่วยรู้หรือสถานศึกษาที่ต้องการสมัครเข้าเรียน และรับการประเมินความรู้ หรือสมรรถนะที่สถานศึกษาและคณะกรรมการสะสมหน่วยการเรียนรู้ของสถานศึกษากำหนด

ข่าวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ