ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสนี้ว่า ปัจจุบัน ระบบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา แบ่งเป็น ฝ่ายข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และพนักงานมหาวิทยาลัย การบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ระบบสัญญาจ้าง เป็นสัญญาตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง และเป็นสัญญาจ้างรายปี ส่งผลทำให้ขาดความมั่นคงในอาชีพขาดแรงจูงใจ,ขาดขวัญกำลังใจ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และเกิดความไม่เท่าเทียมและไม่เสมอภาคของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง
ระบบค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ ดังนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 (1.7 เท่า) สำหรับสายงานวิชาการ และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 (1.5 เท่า) สำหรับสายงานสนับสนุน (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 และวันที่ 31 สิงหาคม 2542) ในการบริหารวงเงินดังกล่าว สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนในอัตราดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องหักเงินส่วนหนึ่งไว้จัดเป็นสวัสดิการให้บุคลากร และสำนักงบประมาณ และ สกอ. ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบหรือเข้าไปกำกับดูแล ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคและความเท่าเทียมในการบริหารค่าตอบแทนของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง อีกทั้ง ระบบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ เกิดความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียมในการบริหารระบบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งส่งผลต่อความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ รวมถึงความมั่นคงทางสุขภาพของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารบุคคลในสถาบันอุดมศึกษากับการดำเนินการในปัจจุบันหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย
๑. กำหนดให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาที่ครอบคลุมบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทุกกลุ่ม เพื่อการบริหารงานบุคคลมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีกรอบมาตรฐานในการกำหนดตำแหน่ง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการ ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นของบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
๒. ไม่นำมาบังคับใช้กับพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐเนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคลของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐที่มีความพร้อมและมีการสร้างระบบการบริหารงานบุคคลที่สูงกว่ามาตรฐานดังกล่าว
๓. กำหนดมาตรฐานการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา การบรรจุแต่งตั้ง วินัยและจรรยาบรรณ การดำเนินการทางวินัย และการอุทธรณ์ร้องทุกข์ กำหนดให้การบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปตามหลักระบบคุณธรรม และกำหนดให้มีระบบการพัฒนาและประเมินการปฏิบัติงาน มีกระบวนการดำเนินการทางวินัย และกระบวนการอุทธรณ์ร้องทุกข์
๔. กำหนดให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษามีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว เบี้ยเสี่ยงภัย หรือสิทธิประโยชน์อย่างอื่นเพิ่มขึ้น เมื่อรัฐจัดสรรงบประมาณให้กับข้าราชการพลเรือน ให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาได้รับในอัตราเดียวกับข้าราชการพลเรือน กรณีที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนได้รับเพิ่มขึ้น และให้สภาสถาบันอุดมศึกษา ปรับให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ในอัตราเดียวกันด้วย
๕. การกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และลูกจ้างในสถาบันอุดมศึกษา กรณีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามบัญชีเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด โดยต้องกำหนดไม่ต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด โดยคำนึงถึงการที่พนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับข้าราชการด้วย และกรณีลูกจ้างในสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนด
๖. กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา สายวิชาการ กำหนดให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งดำรงตำแหน่งในสายงานวิชาการต้องได้รับตำแหน่งทางวิชาการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถดำเนินการได้ ถือว่าไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานสถาบันอุดมศึกษาสามารถสั่งผู้นั้นออกจากงานได้ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและสมควร สภาสถาบันอุดมศึกษา จะมีมติเป็นอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร
๗. กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้มีการกำหนดค่าตอบแทน เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แยกจากบัญชีเงินเดือนของ ก.พ.
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว มีดังนี้
๑. ผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการ
กลุ่ม ม.รัฐ / มรภ. /มทร. เป็นเครื่องมือ/กลไก การกำหนดมาตรฐานการบริหารงานบุคคล สภาสถาบันอุดมศึกษามีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ และวิธีการบริหารงานบุคคลที่เหมาะสมได้ตามมาตรฐานการบริหารงานบุคคลที่คณะกรรมการกำหนด
กลุ่ม ม.ในกำกับของรัฐ ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล เนื่องจากไม่นำมาบังคับใช้กับ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และลูกจ้างของ ม.ในกำกับของรัฐ อาจเกิดปัญหาความล่าช้าในการปรับเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว เบี้ยเสี่ยงภัย หรือสิทธิประโยชน์อย่างอื่นเพิ่มขึ้นตามกฎหมายหรือตามมติ ครม. ในกรณีที่ข้าราชการ ก.พ. ได้รับ
๒. ผลกระทบต่อพนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติงานในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เกิดมาตรฐานขั้นต่ำ
๓. ผลกระทบต่อการจัดการคุณภาพการศึกษา พระราชบัญญัติระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา จะส่งผลต่อยกระดับคุณภาพการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ ทำให้ดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ระบบประเมินตามหลักคุณธรรม รักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไว้ในระบบ สุดท้ายเกิดคุณภาพการศึกษา
ปกรณ์/สรุป
ศุภชัย/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th