จุดยืน บน เวที แรงงาน ‘โลก’

ข่าวทั่วไป Tuesday June 16, 2015 16:51 —สำนักโฆษก

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ กล่าวปราศรัยในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การประชุมครั้งนี้เป็นสมัยที่ 104 จัดที่สหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

เป็นโอกาส ในการที่จะบอกกล่าว ความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการภารกิจด้านแรงงาน บนเวทีระดับโลก

ที่ประกอบด้วยมวลหมู่สมาชิก 185 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 3 พันคน

การดำเนินนโยบายด้านแรงงาน ในวันนี้ ไม่เพียงแต่แค่ตอบโจทย์ของประเทศ แต่ต้องไปไกลถึง ความเป็น ‘มาตรฐานสากล’

ช่วงหนึ่งของคำปราศรัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอที่ประชุม ได้เห็น ถึงความตั้งใจในการดำเนินนโยบาย ‘บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว สู่ความถูกต้อง อย่างยั่งยืน รวมถึงเจตนารมณ์ในการตรากฎหมายเพื่อการคุ้มครองที่ดีตามหลักสากลแก่ทุกชีวิตแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยง’ โดยแถลงว่า

“...ประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่มีจำนวนกว่า 1.6 ล้านคน โดยได้ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศและทำงานเป็นการชั่วคราวหลังการจดทะเบียนในฐานะแรงงานต่างด้าว

การดำเนินการข้างต้น ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับที่แรงงานไทยได้รับ เช่น กฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ที่ออกมาเพื่อสอดคล้องตามอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยแรงงานประมง พ.ศ. 2550 ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น การให้ลูกจ้างมีเวลาพักที่เพียงพอ การห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานบนเรือ การได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการจัดทำทะเบียนลูกจ้าง อันเป็นผลให้งานในภาคประมงมีจำนวนเพิ่มขึ้นและคนงานมีความมั่นคงในการทำงานมากขึ้น

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศความตั้งใจในการขจัดการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยได้มุ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้กระทำผิดข้อหาการค้ามนุษย์ไม่ยกเว้นแม้แต่ผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ...”

ด้วยสภาพสังคม และบริบทต่างๆ ที่ซับซ้อนขึ้น บทบาทขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในวันนี้ จึงไม่ได้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในเชิงรูปธรรมเท่านั้น แต่ไปถึงการพัฒนาจิตวิญญาณของบุคคล..ที่การทำงานจะไม่ใช่ตอบโจทย์แค่มีงานทำ มีเงินใช้ แต่ ‘มากกว่านั้น’ คือทำงานเพื่อคุณค่าที่ยิ่งใหญ่เป็นประโยชน์ที่มากกว่าตนและครอบครัว

          จากแนวคิด ของนักจิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์  ที่ว่า ‘งานคือความเชื่อมโยงของบุคคลกับความจริง’ และเมื่อความเชื่อมโยงนั้น               ‘ไม่เชื่อมโยง’ เพราะต้องตกงาน ผลร้ายจะไม่อยู่เพียง ‘ไม่มีงานทำ’ แต่ในระยะยาวจะส่งผลต่อสุขภาพและความยืนยาวของชีวิต ...

การ ‘เข้าถึงงาน’ จึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นต่อการพัฒนาของบุคคลและการอยู่รวมกันในสังคม

แนวคิดของ รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงาน ก็เป็นไปตามแนวทางนี้ สอดคล้องตามถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ว่า

“...สำหรับแนวคิดว่าด้วย “งานและสังคม” นับแต่การจ้างงานได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาบุคคลและการมีส่วนร่วมในสังคม รัฐบาลไทยจึงได้มีนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่า “คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ” ด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยทั่วประเทศ เพื่อให้บริการจัดหางานให้แก่ประชาชน

ประเทศไทยยังสนับสนุนแนวคิดว่าด้วย “งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” เพื่อให้โอกาสการมีงานทำที่เท่าเทียมแก่คนพิการและโอกาสการมีชีวิตอย่างมีความสุขในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงแรงงานโดยความร่วมมือกับสถานประกอบการหลายแห่งได้ดำเนินการส่งเสริมการจ้างงานที่ยั่งยืนแก่คนพิการเพื่อได้ทำงานในชุมชน ให้มีรายได้ที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น...”

เป็นเจตนารมณ์ บนพื้นฐานแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะดูแล คนทำงานให้ได้รับประโยชน์สุข ซึ่งทุกอย่างไม่เพียงแต่การตอบโจทย์ แค่ชีวิต ‘คนทำงานคนหนึ่ง’ แต่ไปมากกว่านั้น คือ การไปสู่หลักสากล สู่มาตรฐานที่เป็นกติกาที่สังคมโลกยอมรับ

โดย พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ ‘ขยายความ’ การทำงานในส่วนนี้ให้ที่ประชุมรับทราบทั่วกัน ว่า

“...ในวันแรงงานปีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติของประเทศไทยได้เห็นชอบต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติแรงงานประมง พ.ศ. ... ซึ่งจะถือเป็นการออกกฎหมายเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

นอกจากนี้ การดำเนินงานเพื่อการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ พ.ศ. 2501 และอนุสัญญาฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. 2549 ก็อยู่ระหว่างดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ...”

เป็นความชัดเจนในการคุ้มครองดูแล ‘คนทำงาน’ ให้ได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน รอบด้าน

ภาพของประเทศไทยได้ถูกฉายเป็นที่ประจักษ์ รับรู้ สู่มวลสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศจากทุกมุมโลก ในความตั้งใจในการทำงาน เพื่อให้ คนทำงาน ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ในฐานะ ‘ทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของชาติ’

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ