ภารกิจด้านอาชีวศึกษาที่ชลบุรี-ระยอง

ข่าวทั่วไป Thursday June 18, 2015 16:08 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ที่จังหวัดชลบุรี และวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด พร้อมทั้งเยี่ยมนักศึกษาโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (V-ChEPC) ที่จังหวัดระยอง

1) วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ

เมื่อเวลา 10.30 น. รมว.ศึกษาธิการและคณะ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโครงการ “สัตหีบโมเดล” (Sattahip Model) และสาขาเฉพาะทางที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงานโดยเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Work-Integrated Learning : WIL) ด้วยความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา สถานประกอบการ และสมาคมวิชาชีพ เพื่อผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพ สมรรถนะ และทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด บริษัท บริษัท ท็อปเทร็นด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และบริษัท ยูนิค ซี โปรดักส์ จำกัด ผู้เรียนจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย (เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าล่วงเวลา ค่าเดินทาง และค่าอาหารกลางวัน เป็นต้น) จากสถานประกอบการโดยไม่มีข้อผูกมัด

นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นสถานศึกษาซึ่งจัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐออสเตรีย และมีการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Training : DVT) โดยเปิดสอนใน 4 ประเภทวิชา คือ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และพณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการและคณะ ได้เยี่ยมชมห้องฝึกปฏิบัติการและพูดคุยกับนักศึกษาและครูฝึก

2) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี

เวลา 11.30 น. รมว.ศึกษาธิการและคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวศึกษาเกษตร นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมสถานที่ปฏิบัติงานของสาขาวิชาสัตวศาสตร์และสาขาวิชาพืชศาสตร์ และพูดคุยกับนักศึกษาในโครงการหารายได้ระหว่างเรียน

รมว.ศึกษาธิการได้ให้ข้อคิดเห็นกับผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ เกี่ยวกับการเปิดสาขาวิชาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาได้มากขึ้น เช่น การเลี้ยงปลาสวยงาม และการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ เป็นต้น

3) วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด

เวลา 13.30 น. รมว.ศึกษาธิการและคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนในโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (Vocational Chemical Engineering Practice College : V-ChEPC) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีด้วยการนำทฤษฎีแห่งการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน

โดยมีสถานประกอบการให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ประโยชน์ใกนารจัดการเรียนการสอนปีละประมาณ 10 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และบริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน)

จากผลสำเร็จของโครงการฯ ที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2557 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณ และรับนักศึกษาเข้าเรียนรู้ในสถานประกอบการ

สำหรับการฝึกงานในแต่ละภาคเรียน (ระยะเวลา 9 เดือน) มีเป้าหมายการเรียนรู้ ดังนี้

  • ภาคเรียนที่ 1 เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร เพื่อการปรับตัวและเข้าใจพฤติกรรมขององค์กร
  • ภาคเรียนที่ 2 เรียนรู้หน้าที่การทำงานของช่างเทคนิค 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายซ่อมบำรุง
  • ภาคเรียนที่ 3 ฝึกปฏิบัติงานในหน้าที่การทำงานของช่างเทคนิคอย่างละเอียด
  • ภาคเรียนที่ 4 ฝึกทำโครงงานจากปัญหาในการปฏิบัติงาน

? ศูนย์เรียนรู้ OETC ที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล

4) ศูนย์เรียนรู้ SCG Chemicals Operation Excellence Training Center (OETC)

เวลา 14.00 น. รมว.ศึกษาธิการและคณะ เดินทางไปนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล เพื่อเยี่ยมนักศึกษาโครงการ V-ChEPC และครูฝึก ณ ศูนย์เรียนรู้ Chemicals Operation Excellence Training Center (OETC) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด

ศูนย์เรียนรู้ OETC ก่อตั้งขึ้นด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริงเพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง ปัจจุบันมีนักศึกษาโครงการ V-ChEPC ฝึกงานที่เอสซีจี เคมิคอลส์ จำนวน 10 คน

5) พีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

เวลา 15.00 น. รมว.ศึกษาธิการและคณะ เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาโครงการ V-ChEPC และครูฝึก ณ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือตั้งแต่ริเริ่มโครงการดังกล่าวในปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณ การร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์และคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ การช่วยพัฒนา ปรับปรุงแผนและหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นต้น

บริษัทฯ ได้รับนักศึกษาโครงการ V-ChEPC เข้าฝึกงาน จำนวนเฉลี่ย 12 คนต่อปี และเมื่อนักศึกษาจบการศึกษาแล้ว บริษัทฯ คัดเลือกนักศึกษาเข้ามาเป็นพนักงานประจำ ปีละประมาณ 5-10 คน ขึ้นอยู่กับอัตราว่างและผลการคัดเลือกในแต่ละปี

รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จากการตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ซึ่งมีชื่อเสียงทางวิชาช่างในหลายสาขา เช่น ช่างเชื่อม ช่างกลึง เป็นต้น ได้พบกับผู้แทนจากสถานประกอบการหลายแห่งที่มาร่วมจัดทำหลักสูตรทวิภาคีกับสถานศึกษาและเห็นว่าความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับภาคเอกชนหรือสถานประกอบการเป็นไปด้วยดี

และในการตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุดที่มีชื่อเสียงในหลายสาขาวิชาเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการ V-ChEPC ที่สถานประกอบการกลุ่มปิโตรเคมี/ปิโตรเลียมได้ให้ความร่วมมือและการสนับสนุน ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณในการผลิตบุคลากรทางด้านที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี/ปิโตรเลียมเข้าสู่สถานประกอบการ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีขีดความสามารถสูง เพื่อเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สถานประกอบการ โดยสถานศึกษาจะให้การสนับสนุนด้านที่พัก ถือเป็นนักศึกษาประจำ และเมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็จะมีงานทำแน่นอน นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่สถานประกอบการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่เป็นผู้ผลิตบุคลากร สามารถผลิตคนได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ซึ่งก็คือสถานประกอบการ

ปัจจุบันมีสถานประกอบการร่วมมือสถานศึกษาในระบบทวิภาคีทั้งสิ้นประมาณ 11,000 แห่งทั่วประเทศ จึงได้ตั้งเป้าหมายในปี 2558 ต้องขยายความร่วมมือกับสถานประกอบการให้ได้มากกว่า 13,000 แห่ง ยิ่งขยายความร่วมมือได้มากเท่าไหร่ ผลประโยชน์ก็จะเกิดกับสถานประกอบการได้มากเท่านั้น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเปิดโอกาสให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร ร่วมดูแลนักศึกษาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในสถานศึกษา เพื่อให้ได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในอนาคตอาจจะมีการปรับอัตราลดภาษีจากเดิมร้อยละ 200 เป็นร้อยละ 300 ซึ่งจะเป็นสิทธิทางภาษีที่จะมอบให้กับสถานประกอบการที่เข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรทวิภาคี

ถ่ายภาพ : สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ