อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย

ข่าวทั่วไป Friday June 19, 2015 17:52 —สำนักโฆษก

นางสุทธศรี วงษ์สมาน เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปี ๒๐๑๕ IMD ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก ๖๑ ประเทศ ๓๔๒ ตัวชี้วัด ใน ๓ เป็นข้อมูลสถิติที่ IMD ได้ข้อมูลมาจากองค์กรนานาชาติ อาทิ IMF, World Bank, OECD, ILO และข้อมูลจากประเทศสมาชิก และ ๑ ใน ๓ ของตัวชี้วัดนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารภาคธุรกิจทั้งหมด จำนวน ๖,๒๓๔ คน ในภาพรวม สหรัฐอเมริกายังครองอันดับ ๑ เช่นเดียวกับในปี ๒๐๑๔ ซึ่งอันดับดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้นได้รับการขับเคลื่อนทางนวัตกรรมและมีประสิทธิภาพสูง อันดับ ๒ คือ ฮ่องกง และอันดับ ๓ คือสิงคโปร์ แซงหน้าสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งตกลงมาอยู่ในอันดับที่ ๔ สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๓๐ เพิ่มขึ้น ๑ อันดับจากปี ๒๐๑๔ ซึ่งได้อันดับที่ ๒๙ และเป็นอันดับที่ ๓ ในประเทศกลุ่มอาเซียน มีอันดับต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่มีอันดับสูงกว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดย่อยหนึ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานจาก ๑๘ ตัวชี้วัด ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๔๘ ดีขึ้นถึง ๖ อันดับ จากปี ๒๐๑๔ ที่อยู่อันดับที่ ๕๔ โดย จุดแข็งที่ทำให้อันดับความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยดีขึ้น คือ ๑) ร้อยละงบประมาณภาครัฐที่ใช้ในการศึกษาต่อนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ๒) ร้อยละของผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และ ๓) อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรวัย ๑๕ ปีขึ้นไป ดีขึ้นถึง ๑๐ อันดับ ถึงอย่างไรก็ตาม อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยจะสูงขึ้นได้ต้องให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดทุกตัว ต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และตัวชี้วัดที่สะท้อนความคิดเห็นของผู้ประกอบธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจซึ่งมีด้วยกันถึง ๖ ตัวชี้วัด ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางการผลิตกำลังคนให้มีความรู้ตอบสนองและเพียงพอสำหรับเป็นทุนมนุษย์ที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ข่าวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก ข้อมูล   OECD   IMF  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ