ประธานและผู้บริหารหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Monday June 22, 2015 17:58 —สำนักโฆษก

วันนี้ (22 มิถุนายน 2558) เวลา 14.30 น. นายอะกิระ มูราโคชิ (Mr. Akira Murakoshi) ประธานหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นำคณะผู้บริหารหอการค้าญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ และผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นชั้นนำในประเทศไทย อาทิ จากบริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย บริษัท มารูเบนิ ประเทศไทย บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น และบริษัท นิปปอน สตัล ฯลฯ เข้าเยี่ยมคารวะ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

โดยการเข้าเยี่ยมคารวะในวันนี้ เพื่อแนะนำคณะผู้บริหารของหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย สรุปสาระสำคัญการสนทนา ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ และเห็นว่าหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาและความร่วมมือหลายด้านในประเทศไทย ซึ่งในวันนี้ประธานหอการค้าญี่ปุ่นได้กล่าวชื่นชมต่อแผนการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ระยะ 7 ปี (2558-2564) ของรัฐบาล ซึ่งเห็นว่าจะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนต่อต่างชาติ และตรงกับความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น

นอกจากนี้ มีการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการเปิดสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Head Quaters: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Center: ITC) ของรัฐบาล ซึ่ง ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีบริษัทยื่นความจำนงมาแล้วเป็นจำนวนมาก รวมถึงบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง โดยรองนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการลงทุนในอนาคตจะต้องคำนึงถึงโอกาสทางการลงทุนในภาพรวมระดับภูมิภาค ไม่ได้มองประเทศไทยเป็นประเทศเดียว ซึ่งการส่งเสริม IHQ และ ITC จะสร้างความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนระบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ และเครือข่ายการขนส่งทางถนนที่ดีเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ยังสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ ในด้านการลดต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นความร่วมมือสามฝ่ายระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น-เมียนมาร์ รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีความก้าวหน้าและต่อไปจะเป็นระเบียงเศรษฐกิจเส้นใหม่ (New Economic Corridor) ที่เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเป็นจุดศูนย์กลางในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆที่มีความสำคัญในอนาคต

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ