นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณรัฐบาลเมียนมาและสภาธุรกิจ ACMECS ที่ร่วมกันจัดการหารือในวันนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาต่อประเทศสมาชิก ACMECS และต่อภูมิภาค นายรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการบูรณาการงานของรัฐบาลไปพร้อมกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในทุกระดับ ทั้งนี้ ภาคเอกชนคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ โดยเฉพาะ ACMECS ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ยังสามารถพัฒนาศักยภาพและขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนได้อีกมาก
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุนการดำเนินงานของสภาธุรกิจ ACMECS อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับกลไกความร่วมมือนี้ เพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศ ACMECS
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่ผู้นำประเทศสมาชิก ACMECS มาประชุมกันในวันนี้เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของภาครัฐที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน และทำให้การดำเนินธุรกิจของประเทศ ACMECS อาทิ การค้า การลงทุน การเกษตร และการท่องเที่ยว มีความคล่องตัว ทันสมัย และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนได้มากขึ้น
รัฐบาลไทยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก และรองรับการสร้างฐานการผลิตเดียวในเศรษฐกิจของ ACMECS ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศสมาชิก ACMECS เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พัฒนาข้อบังคับและกฎเกณฑ์เพื่อให้การเชื่อมโยงใน ACMECS “ไร้รอยต่อ” มากขึ้น อาทิ การขยายความตกลงการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนสำหรับเส้นทางหมายเลข 9 ให้ครอบคลุมกรุงเทพฯ ฮานอย เวียงจันทน์ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือไฮฟองของเวียดนามซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว และยังได้ให้สัตยาบันแนบท้ายว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS Cross Border Transport Agreement – GMS CBTA) พัฒนาการเหล่านี้เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนของประเทศสมาชิกทั้งสิ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน สำหรับประเทศไทยนั้น ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้บุคคลสามารถนำเงินออกจากราชอาณาจักรไปยังประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันไทยกำลังผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones - SEZ) อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเริ่มนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และสงขลา เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และสร้างความเจริญในบริเวณชายแดนกับประเทศสมาชิก เพื่อที่เศรษฐกิจของประเทศ ACMECS จะเจริญเติบโตและยังประโยชน์แก่ประชาชนของประเทศสมาชิกอย่างทั่วถึง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ประเทศสมาชิก ACMECS สนับสนุนการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างกัน เพื่อช่วยให้เดินหน้าไปอย่างยั่งยืนพร้อมกัน
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและประกอบกิจการ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษในทุกระดับ ตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและรากหญ้า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในแต่ละพื้นที่เพื่อดึงดูดการลงทุนและจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมตามแนวชายแดนประเทศ ACMECS รวมถึงบริเวณอื่นที่มีศักยภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (NSEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) เช่น เขตเศรษฐกิจทวาย ซึ่งเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคที่จะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ACMECS และภูมิภาคต่างๆ ในห้วงเวลาสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนให้ภาคเอกชน ACMECS พิจารณาโอกาสและผลประโยชน์ที่ประชาชนของประเทศสมาชิกจะได้รับจากการพัฒนายุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะวางรากฐานในด้านดังกล่าว โดยตั้งอยู่บนหลักของกฎกติกา ธรรมาภิบาล ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสังคมระหว่างประเทศสมาชิก
ความร่วมมืออีกด้านที่สำคัญในกรอบนี้คือ การท่องเที่ยว ประเทศสมาชิกทั้งหลายล้วนเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมและความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การแสดงให้ประจักษ์ต่อประชาคมโลก ทุกประเทศจึงควรผลักดันการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (Tourism Corridor) เช่นเส้นทาง พุกาม-เชียงใหม่-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์-เสียมราฐ-ดานัง-เว้ ซึ่งเป็นการร้อยเรียงเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ ACMECS นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศมีศักยภาพที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ บนเส้นทางนี้ต่อไปเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและธุรกิจ SMEs ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางดังกล่าว
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความคิดเห็น ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของความร่วมมือภายใต้ ACMECS ซึ่งไทยยินดีที่มีส่วนร่วม โดยการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรใน ACMECS ในสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น บริหารธุรกิจ สาธารณสุข เกษตร และอาชีวะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชาชนในภาคส่วนเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและตอบรับกับความต้องการของประเทศสมาชิกและภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่ภาคเอกชนและประชาชนในประเทศสมาชิก ACMECS อย่างกว้างขวางและทั่วถึงต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th