พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า สำหรับแนวคิดการจัดสร้างบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในรูปแบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์แบบครบวงจรในประเทศไทยนั้น ตนขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ทำงานของตนว่า ปัจจุบันหลายประเทศได้เปิดบ่อนกาสิโนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเรามีอยู่ประมาณ ๒๖ แห่ง โดยในแต่ละปีมีคนไทยนำเงินไปเล่นการพนันในบ่อนกาสิโนที่ประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก และเห็นว่าประเทศสิงคโปร์เป็นโมเดลของต้นแบบกรณีศึกษาที่ดี ซึ่งหลักการ“ดึงบ่อนพนันออกจากชุมชน ดึงบ่อนพนันออกจากรากหญ้า” นี้ เป็นการจัดระเบียบใหม่ ที่จะเอื้อต่อการลดปัญหาสังคม เกิดการสร้างงานได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่หากปล่อยให้บ่อนพนันอยู่กับ “รากหญ้า” จะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ตนพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพราะทุกสิ่งอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย ต้องพูดคุยกันในรายละเอียด ต้องศึกษาและเรียนรู้เพราะแนวคิดการจัดสร้างบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในรูปแบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์แบบครบวงจรมีรายละเอียดของกฎระเบียบมากมาย และต้องมีกฎหมายรองรับเป็นมาตรฐานสากล เช่น การเป็นสมาชิก เกณฑ์อายุ รายได้ ฯลฯ เพื่อให้คนไทยที่ชอบไปเล่นการพนันในต่างประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถมาใช้บริการบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยจะมีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก ซึ่งจะสามารถนำมาใช้บริหารประเทศในด้านต่างๆ ได้
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานและคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) ได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานและคนไร้ที่พึ่ง” ให้เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุและประสานงานเพื่อจัดระเบียบคนขอทาน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆจัด “ชุดปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาขอทาน กรุงเทพฯ” จำนวน ๖ ชุด ลงพื้นที่จัดระเบียบ ตรวจสอบ คัดกรองขอทาน โดยเน้นงานเชิงรุกและสร้างโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการคุ้มครองและพัฒนาฟื้นฟูสภาพจิตใจขอทาน ซึ่งจะมีการจัดระเบียบคนขอทานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๔ ระหว่าง วันที่ ๒๒-๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ ทั้งนี้ ตนได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังมุ่งแก้ไขปัญหาขอทานแบบยั่งยืนเป็นรูปธรรม และส่งเสริมค่านิยม“การให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน” โดยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี โดยขอเชิญชวนร่วมบริจาคเงินทุนเพื่อพัฒนาคนไร้ที่พึ่ง คนขอทานตามกล่องรับบริจาคที่วาง ณ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล วัด และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ๑๑ แห่ง ทั่วประเทศ หรือบริจาคผ่านบัญชี กรุงไทยเลขที่ ๐๒๑-๐-๑๗๔๙๙-๔ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาฟื้นฟูและเป็นทุนประกอบอาชีพแก่คนไร้ที่พึ่ง คนขอทานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเกิดกำลังใจ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงดูตนเองได้ไม่กลับไปเป็นขอทานอีก
“สำหรับเด็กชายวัย ๑๕ ปี ต้องหยุดเรียนกลางคันตั้งแต่ชั้น ม.๑ เพื่อออกมาหาเลี้ยงครอบครัวและใช้หนี้แทนป้ากับแม่ ครอบครัวมีฐานะยากจนอาศัยอยู่ในบ้านพักที่สภาพผุพัง ทรุดโทรม ที่จังหวัดแพร่นั้น ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ (พมจ.แพร่) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งดูแลด้านการศึกษาเพื่อเด็กได้เรียนต่อในระยะยาว นอกจากนี้ตนขอชื่นชมชายชราวัย ๙๕ ปี อดีตทหารผ่านศึก ที่ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง “ยิ่งให้ยิ่งได้รับ” ด้วยการปั่นสามล้อถีบระยะทางกว่า ๓ กม. ไปตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี รับอาหารที่มีคนบริจาคให้ขณะขี่ผ่าน ก่อนนำมาแจกจ่ายชาวบ้านที่มีฐานะยากจน ทั้งนี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุที่มีร่างกายแข็งแรงและทำประโยชน์ให้แก่สังคม” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th