รองโฆษกรัฐบาลแจงรัฐขึ้นภาษีสรรพสามิตแก๊ส LPG ส่งผลราคาแก๊สขนส่งเพิ่มขึ้น ยืนยันไม่กระทบราคาแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 23, 2015 16:35 —สำนักโฆษก

วันนี้ (23มิ.ย.58) เวลา 13.20 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่รองนายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า วันนี้แม้ประเทศไทยจะย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ฝนที่ตกลงมามีปริมาณไม่มากนักและเป็นการตกในพื้นที่ด้านล่างของเขื่อนรับน้ำขนาดใหญ่จึงทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางมีปริมาณน้อย ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยชนแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการช่วยเหลือประชาชนเกษตรกร ทั้งชาวไร่ ชาวสวน และประชาชนทั่วไป โดยวันนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเรื่องดังกล่าวอีกครั้งว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมได้มีการสำรวจพบว่ามีปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้งสิ้นประมาณ 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อย และในช่วงฤดูฝนที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นั้น ปรากฏว่าในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือก็มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปี ประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นค่าวัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาค 2558 เป็นต้นมาจนถึงกลางเดือนมิถุนายน 2558 พบว่ามีน้ำฝนที่ตกมาแล้วปริมาณน้ำไหลเข้าไปในเขื่อนหลัก ประมาณ 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปี ประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากปกติค่าเฉลี่ยทุกปีจะมีน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำหลักเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน (พ.ค.- มิ.ย.) อย่างน้อยประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามที่ผ่านคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการน้ำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาเตรียมการและดำเนินการในเรื่องการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการรับผิดชอบในเรื่องการขุดเจาะน้ำใต้ดิน รวมทั้งให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พร้อมขอให้ชะลอการปลูกข้าวออกไปก่อนจนถึงประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ขณะเดียวกันมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมจัดส่งทหารลงไปสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรทุกประเภท โดยเฉพาะการจัดลำดับความเร่งด่วนและความจำเป็นในการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ทางด้านการเกษตร ซึ่งวันนี้จากการสอบถามของที่ประชุมพบว่าในพื้นที่การปลูกข้าวเขตลุ่มน้ำภาคกลาง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 คือส่วนที่อยู่ในเขตชลประทานซึ่งเดิมได้มีการสำรวจพบว่ามีการปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 3,700,000 ไร่ แต่ขณะนี้ปริมาณการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 4 ล้านไร่ อีกประมาณ 3,700,000 กว่าไร่ กำลังอยู่ระหว่างชะลอการปลูกข้าวตามแนวทางที่รัฐบาลขอความร่วมมือ ส่วนที่ 2 คือพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2.3 ล้านไร่ ได้มีการปลูกข้าวไปแล้ว 1,300,000 ไร่ ชะลอตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือประมาณ 1 ล้านไร่

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้กล่าวถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรว่า จะดูแลเฉพาะเกษตรกรชาวนาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเกษตรกรชาวสวนก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นจะต้องดูแลทุกส่วน ส่วนเรื่องของน้ำที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีหลายประเภท ทั้งน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล หรือการทำฝนเทียม โดยปัจจุบันได้มีการนำทีมฝนเทียมจากภาคใต้มาช่วยทำฝนเทียมในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเร่งรัดให้เกิดฝนตกและมีปริมาณน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งการดำเนินการทำฝนเทียมถือว่าได้ผลประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ คือมีฝนตกเกือบทั่วทุกจังหวัดของประเทศ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังน้อยและไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นจากปัญหาดังกล่าว นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการผ่านรองนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ พรุ่งนี้ซึ่งจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติทั้งระบบ เพื่อให้สามารถตอบรับต่อการแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการปรับขึ้นราคาแก๊ส LPG ตามนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยในเรื่องของแก๊ส LPG นั้น รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้มีการนำเชื้อเพลิงแก๊ส LPG ไปใช้ในภาคขนส่ง ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการใช้แก๊ส LPG คือ การนำไปใช้ในภาคครัวเรือนสำหรับประชาชนและร้านค้าที่ประกอบอาหา แต่ที่ผ่านมามีความพยายามจะนำแก๊ส LPG ไปใช้ในภาคขนส่ง ทำให้ผู้ที่ใช้บริการหรือผู้ประกอบการขนส่งส่วนหนึ่งหันมาใช้แก๊ส LPG เป็นเชื้อเพลิงเนื่องจากมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ จึงส่งผลให้เป็นการใช้เชื้อเพลิงที่ผิดประเภทไป ทั้งนี้การที่ได้มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตของแก๊ส LPG เป็นเพียงการขึ้นเฉพาะภาคขนส่งเท่านั้น โดย นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนว่า กรณีการขึ้นภาษีสรรพสามิตแก๊ส LPG จะทำให้ราคาแก๊สขึ้นเฉพาะภาคขนส่งที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงรถเท่านั้น แต่ในภาคครัวเรือนและร้านค้าที่ประกอบอาหารยังเป็นราคาเดิม

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ