ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมฯ ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางสำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เริ่มต้นจากการดูว่าน้ำที่มีอยู่นั้นว่ามีเท่าไร ดูข้อมูลพยากรณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าจะมีน้ำอย่างไร ดูว่าพื้นที่ขณะนี้ใช้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และช่วยเหลือเกษตรได้แค่ไหน และพื้นที่ที่ประสบปัญหาจะมีมาตรการอื่นมาช่วยได้อย่างไร เช่น เจาะน้ำบาดาล และที่มีปัญหาแย่งน้ำจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้มีข้อมูลว่าช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. น้ำจะมีน้อย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมาดูว่าจะช่วยได้แค่ไหนอย่างไร จนกว่าจะเข้าสู่ช่วงภาวะปกติ
ขณะที่นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของข้อมูลด้านการเกษตรระบุว่า พื้นที่ที่มีปัญหาคือพื้นที่เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็นพื้นที่ทั้งหมดที่วางแผนเพื่อการเพาะปลูกจำนวน 7.45 ล้านไร่ มีการปลูกไปก่อนหน้าที่จะประกาศชะลอการเพาะปลูกประมาณ 3.44 ล้านไร่ แต่หลังจากที่ประกาศให้ชะลอการเพาะปลูกมีการเพาะปลูกเพิ่มอีกประมาณ 5.6 แสนไร่ และนอกจากนั้น 3.45 ล้านไร่ คือพื้นที่ที่ยังไม่ปลูกอะไรเลยและเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนชลประทานมีไม่พอสำหรับ 3.45 ล้านไร่ ที่คงต้องรอเรื่องฝน และใน 3.4ล้านไร่ที่เพาะปลูกไปแล้ว จะมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงประมาณ 8 แสนกว่าไร่ เพราะปริมาณน้ำที่คาดไว้ไม่เพียงพอ และส่วนมาตรการที่จะช่วยเป็นมาตรการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกันทำการเจาะบ่อบาดาลและใช้บ่อบาดาลเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเข้ามาช่วยในส่วนของ 8 แสนไร่ที่มีความเสี่ยง ส่วนพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกเพิ่มมาหลังจากประกาศให้ชะลอฯอีก 5.6 ล้านไร่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามธรรมชาติและขุดเองบ้าง ก็สามารถดูแลตัวเองได้จนถึงฤดูที่ฝนจะมา
ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีการเพาะปลูก 3.45 ล้านไร่ นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มีมาตรการ 4 มาตรการรองรับ คือ 1. เลื่อนระยะเวลาการเพาะปลูกออกไปเป็นช่วงเดือน ก.ค. -ส.ค. 2. ปรับเปลี่ยนพืชที่จะทำการเพาะปลูกเพราะฝนจะมาล่าและมีน้อย โดยหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีอายุสั้น และเป็นพืชที่มีความต้องการของตลาดคือข้าวโพดและถั่วเขียว3.ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกไปเลย คือเป็นเกษตรผสมผสาน หรือ เกษตรที่ปราณีต ที่กระทรวงเกษตรฯ จะประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร ในการจัดการทุนที่ต้องใช้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต และ 4. ถ้าเลื่อนการเพาะปลูกออกไป เรื่อยๆ จะมีปัญหาเรื่องระยะเวลา ดังนั้น กระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาว่า การเลื่อนหนี้หรือการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกจะทำอย่างไรได้บ้างในพื้นที่ที่ประสบปัญหา
ด้านพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงจำนวน 8.5 แสนไร่ เพราะมีพื้นที่บางส่วนที่ไม่สามารถผันน้ำไปได้ ซึ่งจากศักยภาพที่มีอยู่ ในปัจจุบันของปริมาณน้ำใต้ดิน และเครื่องมือที่มีนั้นที่ประชุมกำหนดให้ต้องเสร็จภายในกลางเดือนก.ค. โดยกระทรวงทรัพยากรฯสามารถสนับสนุนบ่อบาดาลได้จำนวน 880 บ่อ ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือ บ่อน้ำสังเกตการณ์จำนวน 380 บ่อที่มีอยู่แล้ว เป็นบ่อทางวิชาการที่มีน้ำพร้อมแต่ยังไม่มีเครื่องปั๊ม ไม่ต้องไปเจาะใหม่ ซึ่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ส่งปั๊มน้ำเข้าไปแล้วจำนวน 300เครื่องที่มีอยู่อยู่แล้ว และอาจจะต้องซื้อเพิ่มอีกนิดหน่อย และได้เริ่มทำการปั๊มน้ำแล้วก็พบว่ามีน้ำตามที่คาดไว้ และส่วนอีกคือ 500 บ่อ ที่จะต้องเจาะใหม่ และต้องหาปั๊มเพิ่มอีกจำนวน 80 ปั๊ม ส่วนการเลือกลงพื้นที่เป้าหมายกรมชลประทานจะเป็นฝ่ายชี้เป้าให้
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝนที่เหลือในช่วงฤดูฝนของปี 2558 จากการติดตามตัวชี้วัดเรื่องเอลนีโญ ทำให้ทราบอย่างแน่นอนว่าภาวะเอลนีโญได้เกิดขึ้นแล้วและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงประเทศไทยที่ประสบกับปัญหาดังกล่าว หลายประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ เกาหลีเหนือ จีน ไต้หวันและอินเดีย จากการคาดการณ์ของหลายสำนักภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นในปีนี้อาจสูงเท่ากับปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ภาวะเอลนีโญรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน จะทำให้มรสุมและร่องฝนมีกำลงอ่อนลงอยากมาก โดยจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงต้องมีการเตรียมการรับมือ
นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยแล้ง คือ การแปรผันของมวลน้ำในมหาสมุทรอินเดีย (indian ocean dipole) เมื่อพิจารณาแนวโน้มของปัจจัยนี้ มีแนวโน้มไปในทางที่ดี ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้บ้างแต่ก็ยังมีผลน้อยกว่าภาวะเอลนีโญ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยขึ้นอยู่กับภาวะเอลนีโญอยู่ถึง 60% แต่การแปรผันของมวลน้ำในมหาสมุทรอินเดียมีผลอยู่ประมาณ 30%โดยอาจช่วยได้ในปลายฤดูฝนช่วงปลายเดือน สิงหาคม – กันยายน เป็นต้นไป ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ Madden-Julian oscillation (MJO) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์วงรอบสั้น ทำให้เกิดมรสุมรุนแรงขึ้นเป็นช่วงๆ วงรอบประมาณ 30-60 วัน ซึ่งในอีก2-3 วันนี้จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยได้เพียงระยะสั้น
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th