วันนี้ (24 พ.ค.58) เวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558 ของ 32 องค์กรผู้ให้บริการเอสเอ็มอี ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีรัฐมนตรี ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเฉพาะกิจ ผู้บริหารจากเครือข่ายองค์กรผู้ให้บริการเอสเอ็มอีทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และสถาบันการเงิน ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีพร้อมมอบนโยบายเอสเอ็มอีแก่เครือข่ายองค์กรผู้ให้บริการเอสเอ็มอี สรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ซึ่งทุกคนทราบดีว่าปัญหาของประเทศอยู่ตรงไหน รัฐบาลขณะนี้บริหารราชการในรูปแบบกึ่งปฏิรูปกึ่งบริหารราชการปกติ โดยในด้านเศรษฐกิจขณะนี้มีปัญหาด้านการส่งออกจึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคการผลิต การตลาด เพราะที่ผ่านมาไม่มีความเชื่อมโยงกันมาก่อนทำให้เอสเอ็มอีมีปัญหา ดังนั้นในวันนี้รัฐบาลจึงได้ปรับรูปแบบการบริหารเอสเอ็มอีโดยมีคณะกรรมการ สสว. ทำหน้าที่บริหาร กำหนดนโยบายประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือสนับสนุน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐจะต้องขับเคลื่อนอำนวยความสะดวกทุกอย่าง เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจดำเนินธุรกิจได้สะดวก โดยรัฐบาลจะขับเคลื่อนบริหารเอสเอ็มอีให้เดินหน้า โดยต้องขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นจริงและไม่ให้เกิดผลกระทบกับส่วนอื่น ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยเดินหน้าไม่ค่อยได้ เพราะมีปัญหาความทับซ้อนระหว่างการเมือง ข้าราชการ ธุรกิจผู้ประกอบการ ดังนั้น วันนี้จะต้องนำเอสเอ็มอีทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 2.7 ล้านรายมาขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการให้ได้ และ สสว. จะต้องสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงให้ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่สามารถเดินไปพร้อมกัน โดยนายกรัฐมนตรีไม่ห่วงธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เห็นควรว่าจะต้องดูแลธุรกิจขนาดกลางในประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยทั้งหมดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลา 1-2 ปี แต่จะต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลหน้ามีหน้าที่ที่จะต้องรับสานต่องานจากรัฐบาลปัจจุบันต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ทำหน้าที่เพื่อคนไทยและเพื่อมิตรประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย โดยทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งและอยากลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้พูดในทุกเวทีโลกว่าอาเซียน 10 ประเทศไม่ใช่คู่แข่งขันกันอีกต่อไป แต่เป็นหุ้นส่วนกันทั้งด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม โดยการทำงานของรัฐบาล 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีแผนงานออกมาทั้งหมดแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะทำให้ดีที่สุดในระยะเวลาที่เหลืออยู่ พร้อมกับได้ให้คำยืนยันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับทุกประเทศในอาเซียนว่ารัฐบาลได้วางแผนงานไว้แล้ว และในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 6 ที่ผ่านมา ก็มีหลายเรื่องที่มีความก้าวหน้าและมีผลผูกพันกับเอสเอ็มอี ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะไปดูในเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ในส่วนของการค้าการลงทุนต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอี โดยไม่ใช่เป็นการหาเงินให้เอสเอ็มอีไปกู้กับธนาคาร แต่ สสว. จะต้องมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมด คัดกรองแบ่งผู้ประกอบการเป็น 4 ประเภทเพื่อให้การดูแล คือ 1. ธุรกิจที่พร้อมขยายไปต่างประเทศ 2. ธุรกิจที่พร้อมขยายในประเทศ 3. ธุรกิจที่ใกล้จะล้มแต่มีศักยภาพ 4. ธุรกิจที่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการ โดยขอให้องค์กรผู้ให้บริการเอสเอ็มอีเสนอมายัง สสว. เพื่อ สสว. นำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือ พร้อมกับขอให้องค์กรผู้ให้บริการเอสเอ็มอีช่วยรัฐบาลในเรื่องการสร้างเครือข่ายเอสเอ็มอีในแต่ละประเภทกับเสนอแนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในแต่ละด้าน รวมทั้งขอให้ช่วยเขียนแผนกรอบโครงสร้างการพัฒนาเอสเอ็มอีมาให้รัฐบาลเพื่อพิจารณากำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจนร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีในเรื่องเงินทุน การให้ความรู้ การสร้างความเชื่อมโยง และหาตลาด ซึ่ง สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันดำเนินการ โดยรัฐบาลจะช่วยเสริมพร้อมกับเร่งพัฒนาทุกอย่าง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังฝากให้องค์กรผู้ให้บริการเอสเอ็มอีช่วยรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีรายได้จากธุรกิจสีเทา โดยหาอาชีพหรือกิจกรรมให้คนที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ได้มีงานทำมีรายได้ด้วย
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือดำเนินกิจกรรมด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ และการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เครือข่ายองค์กรผู้ให้บริการเอสเอ็มอีสามารถส่งต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปยังหน่วยงานร่วมอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th