นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 3/2558

ข่าวทั่วไป Thursday June 25, 2015 17:26 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กนพ. มีมติสำคัญ 7 เรื่องขับเคลื่อนงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม-เตรียมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป

วันนี้ (25 มิ.ย.58) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 3/2558 ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการประชุม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กนพ. มีมติที่สำคัญ 7 เรื่อง ในการขับเคลื่อนงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเตรียมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป ดังนี้

1. เห็นชอบกิจการเป้าหมายรายพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย เชียงราย กาญจนบุรี นครพนม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ระดับสูงตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 4/2557 โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) นำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (กกท.) พิจารณาและออกเป็นประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่อไป ซึ่งกิจการที่ให้ส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจพิเศษทั้งระยะที่ 1 ระยะที่ 2 มีรวม 13 ประเภท โดยแต่ละพื้นที่มีเกณฑ์การคัดเลือกในเรื่องอุตสาหกรรมหรือกิจการเป้าหมายแตกต่างกันไปตามศักยภาพของพื้นที่ สำหรับในกรณีของนราธิวาสใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับภายใต้เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ขอให้แต่ละจังหวัดเตรียมการให้พร้อมเพื่อรองรับการลงทุนด้วย

2. เห็นชอบการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ ลดเงินลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือ 5 แสนบาท อนุญาตให้นำเครื่องจักรที่ใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนการตีมูลค่าของเครื่องจักรจะตีมูลค่าตามบัญชีที่เหลือ หักค่าเสื่อมของเครื่องจักรให้ตามความเป็นจริง และมอบหมาย สกท. นำเสนอ กกท. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

3. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร และสำนักงบประมาณทบทวนแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ตามลำดับความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วน และความพร้อมของโครงการ สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกและระยะที่ 2 โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ชัดเจน

โดยในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2558 รวม 35 โครงการ วงเงิน 2,405 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนการจัดสรรงบประมาณให้กับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ในปี 2559 มีวงเงิน 1,196 ล้านบาท ที่ประชุมได้ให้ไปจัดลำดับความสำคัญใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเร่งด่วนกับเรื่องของโอกาสการค้าการลงทุนในบริเวณชายแดน พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2559 รวม 175 ล้านบาท สำหรับ 1. การปรับปรุงอาคารด่านพรมแดนคลองลึก จ. สระแก้ว วงเงิน 50 ล้านบาท 2. แก้ไขปัญหาจราจรบริเวณชายแดนบ้านคลองลึก โดยเฉพาะการก่อสร้างลานตรวจสินค้าเอ็กซเรย์ วงเงิน 115 ล้านบาท 3. การปรับปรุงด่านศุลกากร อ.สะเดา จ.สงขลา ในการติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 10 ล้านบาท

4. เห็นชอบการจัดสรรที่ดินให้หน่วยราชการใช้ประโยชน์ และให้เอกชน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา และหนองคาย ทั้งนี้ สำหรับสงขลาให้ กนอ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ซึ่ง จ.สงขลาและภาคเอกชนจัดทำไว้มาประกอบการดำเนินงาน และประสาน ปปง. ให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ต่อไป และมอบหมายให้อนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการและกระทรวงการคลังทบทวนหลักเกณฑ์การจัดให้เช่าที่ดิน การกำหนดอัตราค่าเช่า และผลประโยชน์ตอบแทนการเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเสนอ กนพ. พิจารณาต่อไป

5. มอบหมายสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาเปิดจุดผ่านแดน ณ พื้นที่ บ.ป่าไร่ จ.สระแก้ว และช่องอานม้าจ.อุบลราชธานี โดยนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) และเร่งดำเนินการสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ (Joint Detail Survey) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป

6. มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) สกท. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พิจารณาแนวทางการดำเนินงานศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

7. มอบหมายอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ พิจารณากำหนดพื้นที่สำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 และมอบหมายกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำเนินการเพื่อถอนสภาพที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีการถอนสภาพแทนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ จังหวัดยะลาโดยเทศบาลอำเภอเบตง ได้นำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา 2 เรื่องคือ 1. ขอให้ประกาศให้เบตงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2. ให้มีการพัฒนาสนามบินเบตง ซึ่งในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ นั้น ยังไม่อยู่ในกรอบนโยบายที่จะประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ทั้งนี้ ไม่อยากให้กังวลว่าจะเป็นหรือไม่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยพื้นที่ใดที่ไม่ได้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามประกาศของ กนพ. นั้น รัฐบาลก็ให้ความสำคัญในการเข้าไปดูแลเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่ง อ.เบตง ก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและให้งบประมาณในการพัฒนาผ่าน ศอ.บต. อยู่แล้ว สำหรับเรื่องสนามบินเบตง อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อสร้างสนามบินเบตง ที่ขณะนี้มีการเตรียมพร้อมเรื่องพื้นที่และผ่าน EIA เรียบร้อยแล้ว

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ