นายกรัฐมนตรีชื่นชมภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ยาวนาน บ้านเมืองสวยงาม อากาศดี และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 30, 2015 17:35 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีระบุการประชุมครม.ต้องการมาพบปะเยี่ยมเยียนและรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่จ.เชียงใหม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชื่นชมภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ยาวนาน และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศ และขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่า

วันนี้ (30มิ.ย.58) เวลา 12.25 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่2/2558 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2558 ต่อจากครั้งที่แล้วที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยในการประชุมฯ ครั้งที่ 3 ก็จะไปจัดในภูมิภาคอื่นต่อไป เพื่อจะได้เห็นการพัฒนาและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับเมื่อเวลาเดินทางประเยือนต่างประเทศ ก็จะนำสิ่งที่ได้พบเห็นมาใช้ประกอบในการพิจารณาในการดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีความเข้มแข็งและเท่าเทียมในสังคม รวมทั้งมีส่วนในการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมทั่วถึง

สำหรับประเด็นสำคัญของการประชุมฯ วันนี้ก็มีวาระเพื่อทราบและเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญคือคณะรัฐมนตรีต้องการมาพบปะเยี่ยมเยียนและรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยปัญหาที่ได้รับทราบส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริหารจัดการซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมาหารือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ว่า สิ่งที่รัฐบาลได้สั่งการและกำหนดนโยบายทั้ง 5 กลุ่มงาน มีเรื่องใดบ้างและลงไปในรายละเอียดอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนี้ได้เน้นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนต้นน้ำต้องไปสำรวจดูว่าแหล่งกำเนินต้นน้ำมาจากที่ใดบ้าง ทั้งภูเขา พื้นที่ป่า ซึ่งขณะนี้พบว่าพื้นที่ป่ามีจำนวนน้อยลงจึงทำให้ต้นน้ำบางแห่งได้รับผลกระทบแห้งแล้งเพราะความชุ่มชื่นไม่เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยต่อเรื่องนี้ โดยทรงพระราชทานให้จัดตั้งศูนย์ภาคเหนือกับภาคกลางเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการในเรื่องการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง ประมาณ 2,000 กว่าครั้ง ได้ผลประมาณ 90 กว่าครั้ง คือมีฝนตกแต่ปริมาณฝนไม่มาก เพราะปริมาณเมฆและความชุ่มชื้นน้อยเนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งอยู่ เมื่อฝนตกลงมาก็ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำเล็กน้อยแต่ยังไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เท่าที่ควร ทั้งนี้ สิ่งที่ได้คิดปรับแก้ไขให้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือปรับบางส่วนมาดำเนินการในเรื่องน้ำบาดาล บ่อน้ำตื้น จากเดิมกำหนดไว้ประมาณ 500 บ่อ ขณะนี้ต้องเพิ่มอีก 1,000 บ่อ ซึ่งในส่วนของน้ำบาดาลไม่ได้มีไว้สำหรับทำการเกษตรหรือเพาะปลูก แต่จำเป็นต้องดำเนินการให้ในพื้นที่ที่ได้มีการทำการเกษตรไปแล้วถึงแม้จะมีการประกาศขอความร่วมมือไม่ให้มีการเพาะปลูก เพื่อไม่ให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือดังกล่าวคงไม่สามารถดำเนินการให้ได้ผลผลิตปกติเช่นเดียวกับการใช้น้ำจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้ เมื่อมีการทำการเกษตรไปแล้วก็จะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม แต่หากจะมาเรียกร้องเพิ่มคงไม่ได้

สำหรับในส่วนที่ยังไม่เพาะปลูกรอบแรก และเคยเพาะปลูก 2 รอบจะมีแนวทางทำอย่างไร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ตอนล่าง ซึ่งหากเพาะปลูกไม่ได้ก็ต้องหาอาชีพหรือกิจกรรมอื่นรองรับ รวมถึงการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสว่าจะทำอย่างไรให้มีการจัดสรรพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด และต้องรู้ว่าในพื้นที่เขตชลประทานมีจำนวนเท่าไร ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 10 ล้านไร่ ที่จะต้องสร้างใหม่ในปีนี้ จากเดิมพื้นที่ชลประทานมี 30 ล้านไร่ ถึงปี 2559 เราสามารถเพิ่มได้10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปีนี้ได้ 2.2 ล้านไร่ ปีหน้า 8.8 เพราะฉะนั้นในพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 137 ล้านไร่โดยประมาณ จะสามารถทำได้เพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งตรงนี้นอกจาก 40 เปอร์เซ็นต์จะต้องไปพิจารณาว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร แต่อย่างไรก็ดีใน 40 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวก็มีปัญหาหากไม่มีนำต้นทุนก็ไม่สามารถทำได้เช่นเดิม ซึ่งจากทั้งหมดที่เกิดดังกล่าวจึงนำไปสู่การจัดโซนนิ่งพื้นที่หรือกำหนดการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมและปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ตลอดจนการกำหนดอุปสงค์และอุปทานให้มีความสมดุลในการใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ และต้องเพิ่มการแปรรูปให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงขึ้น โดยต้องมีการเชื่อมโยงไปในพื้นที่ชุมชน ภูมิภาค กลุ่มประเทศ CLMV และขยายไปสู่ประชาคมโลก ซึ่งเราต้องมีการสร้างระบบดังกล่าวให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย

ส่วนการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ถนน รถไฟ ต่าง ๆ นั้นก็ต้องเป็นไปตามห้วงเวลาที่เราสามารถดำเนินการได้ ซึ่งวันนี้ได้มีการเริ่มดำเนินการในเรื่องของรถไฟไปบ้างแล้ว ทั้งนี้เรื่องที่รัฐบาลนี้สามารถดำเนินการได้ก็จะดำเนินการในช่วงนี้ ขณะที่เรื่องใดหากยังดำเนินการไม่ได้คงต้องส่งให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ เพราะบางโครงการใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องมีการศึกษาวิจัยก่อนดำเนินการ อย่างไรก็ในส่วนของรถไฟที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้คือการก่อสร้างที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ก่อนเดินหน้ารถไฟสายเหนือซึ่งเป็นความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น รวมทั้งกรณีรถไฟทางคู่ในประเทศ ซึ่งเป็นงบประมาณของเราเอง ทั้งนี้ยืนยันรัฐบาลดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคณะกรรมการในการพิจารณาก่อนตัดสินใจดำเนินการ

ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ป่าก็จะมีการดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วทุกภาค ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วที่ตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการกำหนดช่วงระยะเวลาดำเนินอย่างชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในการทำกินได้ในพื้นที่ที่กำหนด โดยไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกร และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนป้องกันแก้ไขปัญหาผู้ที่ทำผิดกฎหมายในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าและต้นน้ำ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมภาคเหนือรวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ว่า มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่มายาวนาน มีบ้านเมืองสวยงาม อากาศดี ตลอดจนการท่องเที่ยวก็ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ถือว่าการท่องเที่ยวเป็นการลงทุนน้อยแต่สามารถทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหากบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ประเทศไทยก็พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน ทั้งศูนย์กลางการรักษาพยาบาล และการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้จะต้องสร้างความเชื่อมโยงให้ได้ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจะต้องไม่เป็นการทำลายและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดความรักสามัคคี ประชาชนในชุมชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งหากดำเนินการได้อย่างเป็นระบบก็จะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืน พร้อมทั้งฝากให้ประชาชนในชุมชนเมืองใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า และต้องนึกถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ