พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ รัฐบาลได้นำหลักการของอนุสัญญา รวมถึงมาตรฐานระหว่างประเทศและสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง มากำหนดเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และการดำเนินงานโครงการ เพื่อประกันสิทธิแก่เด็ก
ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองให้อยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตรายและการถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์ ทั้งนี้ สถานการณ์โยกย้ายถิ่นหรือการเคลื่อนย้าย
ของประชากรทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความแตกต่างในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศและในประเทศทำให้เกิดการเดินทางไปหางานทำ เพื่อหนีความยากจน การถูกกระทำความรุนแรงและการล่วงละเมิด ฯลฯ ขณะที่การอพยพเคลื่อนย้ายของเด็กและครอบครัวของประเทศไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นมากนั้น รัฐบาลได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่จะให้การคุ้มครองและพัฒนาเด็กเคลื่อนย้ายอย่างเต็มที่ตั้งแต่การปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยได้รับการจดทะเบียนการเกิด การเข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคมที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียม เช่น การศึกษา การตรวจสุขภาพหรือประกันสุขภาพ และการคุ้มครองสวัสดิภาพให้แก่เด็กและครอบครัว รวมทั้งการออกมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.) ร่วมกับภาคีสมาชิกเด็กเคลื่อนย้าย และองค์การแตร์ เด ซอมม์ เนเธอร์แลนด์ ได้จัดการสัมมนาระดับชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของเด็กเคลื่อนย้าย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสถานการณ์ สภาพปัญหาของเด็กเคลื่อนย้ายที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเด็นการคุ้มครองสิทธิของเด็กเคลื่อนย้ายสู่การปฏิบัติต่อไป โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕- ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชนและภาคีเครือข่ายเด็กและเคลื่อนย้าย จะนำผลสรุปที่ได้จากการสัมมนา ไปจัดทำเป็นร่างแนวทางว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของเด็กเคลื่อนย้ายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติต่อไป
“ประเทศไทยต้องส่งเสริมการทำงานในเรื่องการคุ้มครองเด็กไปสู่มาตรฐานนานาชาติอย่างเต็มที่ และเติมเต็มพันธะสัญญาให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้ายถือเป็นประเด็นเร่งด่วน ที่ต้องรณรงค์สร้างความตระหนักและเรียกร้องให้เกิดการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้เกิดนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่มีความชัดเจนและครอบคลุมเด็กเคลื่อนย้ายทั้งในสามระยะ คือระยะก่อนเคลื่อนย้าย ระยะกำลังเคลื่อนย้ายและระยะที่เคลื่อนย้ายถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ซึ่งแนวทางการทำงานใหม่นี้ต่างไปจากการทำงานแบบดั้งเดิม คือทำงานจำแนกตามสภาพกลุ่มปัญหา (category-based approach) อย่างไรก็ตาม การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยในการสร้างพลังเครือข่ายการทำงานในเรื่องนี้ และได้ผลลัพธ์ที่จะมาสนับสนุนการส่งเสริมและคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้ายต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th