ชาวสวนยางภาคตะวันออกเฮ! ก.อุตฯ อนุญาตตั้งโรงงานคาดรับซื้อน้ำยางเพิ่ม 2 แสนตัน/ปี และเดินเครื่องได้ ส.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Friday June 26, 2015 16:18 —สำนักโฆษก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านแก่ง จำกัด และชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจันทบุรี จำกัด ซึ่งมีสมาชิกเครือข่าย 25 สหกรณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเข้าพบ เพื่อแสดงความขอบคุณในโอกาสที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งเสริมการตั้งโรงงาน การสนับสนุนการซื้อยางพารามาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นยางคอมพาวด์ที่ใช้ผลิตยางล้อรถยนต์ปีละประมาณ 200,000 ตัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตประกอบกิจการขยายโรงงานแปรรูปยางเครป ยางแท่งและยางผสม ในพื้นที่ 10 ไร่ มูลค่าการลงทุน 425 ล้านบาท กำลังการผลิต 6 ตัน /ชั่วโมง ทำให้เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่จำนวน 70 อัตรา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มประกอบกิจการได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

“ที่กลุ่มสหกรณ์หลายกลุ่มมากันในวันนี้(25) ก็เพื่อขอบคุณที่ได้รับมอบใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาผลผลิตที่ออกมาไม่ได้มีการรับประกันว่าจะมีผู้ซื้อหรือไม่ แต่การที่มีโรงงานแปรรูปที่นอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำยางดิบแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น การทำผลิตภัณฑ์ยางล้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ได้อีกด้วย

เท่าที่ทราบคือ ตอนนี้มีผู้ประกอบการบริษัท อุตสาหกรรมยางเฮิงเฟิงหยวนฮ่องกง จำกัด ของจังหวัดซานตง ประเทศจีน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ ได้ลงนามในสัญญากับสหกรณ์สวนยางบ้านแก่ง ในการรับซื้อผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ทั้งหมดที่ผลิตได้ ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตได้ จะมีผู้รับซื้อ และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ขณะเดียวกันการตั้งโรงงานในพื้นที่ยังทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย” นายจักรมณฑ์ กล่าว

ด้านนายเดชา กุชาติ เลขานุการคณะกรรมการ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านแก่ง จำกัด กล่าวว่า การที่สมาชิกสหกรณ์ฯ มาขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในวันนี้(25) ก็เพื่อขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้โอกาสเกษตรกรและสนับสนุนสหกรณ์ฯและสมาชิกสหกรณ์ฯ ให้ตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีทางออกและมีชีวิตที่ดีขึ้น มีกำลังใจและมั่นใจในการประกอบอาชีพต่อไป

ทั้งนี้ โรงงานแปรรูปยางพาราของสหกรณ์บ้านแก่ง จำกัด จัดอยู่ในประเภทโรงงานลำดับที่ 52(3) เป็นโรงงานขั้นกลาง ซึ่งผลิตยางแผ่นรมควัน การทำยางเครป ยางแท่ง ยางน้ำ หรือการทำยางให้เป็นรูปแบบอื่นใดที่คล้ายคลึงกันจากยางธรรมชาติ โดยโรงงานในประเภทนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 923 ราย โดยเป็นสหกรณ์ 447 ราย

โรงงานแปรรูปยางพาราขั้นต้นที่ได้รับการอนุญาตประกอบกิจการ มีจำนวน 156 ราย และโรงงานแปรรูปยางพาราขั้นปลายที่ทำผลิตภัณฑ์ยางจากธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ มีจำนวน 699 ราย ส่วนโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 553 ราย ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนน้อย เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตยางดิบอันดับหนึ่งของโลก การตั้งโรงงานจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางพาราเพิ่มขึ้นอีก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ