ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการหารือ ดังนี้
การหารือระหว่างพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ประธาน JETRO ในวันนี้ ซึ่งเป็นการพบกันครั้งที่ 2 ได้สะท้อนภาพความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น เป็นอย่างดี
ในการหารือในวันนี้ ประธาน JETRO ได้แสดงความขอบคุณและชื่นชมนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนมีการปรับปรุงมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและตรงกับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติและญี่ปุ่น ซึ่งยิ่งสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ยังได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของฝ่ายไทย-ญี่ปุ่น ตามบันทึกความร่วมมือ (MOC) ส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจไทยในญี่ปุ่นระหว่าง JETRO และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน และตามที่เคยได้หารือกันไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในหลายสาขา ดังนี้
ความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปสินค้าเกษตร ทางญี่ปุ่นได้มีการจัดให้มีการหารือระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยผู้ประกอบการร้านอาหารของญี่ปุ่นได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในเดือนที่ผ่านมาเพื่อแสวงหาลู่ทาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยมากขึ้น
ความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง เจโทรได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาเรื่องความเชื่อมโยงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน มีการหารือระหว่าง BOI และ JETRO อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ Thailand plus 1 ซึ่งเชื่อว่า จะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
ด้านการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ปัจจุบันมีการหารือระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนญี่ปุ่น บริษัท โตโยต้า และ อีซูซุ ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทยแล้ว และขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนได้มาใช้ประโยชน์จากศูนย์ดังกล่าวด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น ซึ่งได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จนทำให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและขอให้ดำเนินการเช่นนี้อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมในหลายสาขามากขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการไทย พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะมีบทบาทในการอำนวยความสะดวก เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถดำเนินการค้าและการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชิญชวนให้นักธุรกิจญี่ปุ่นมาเยือนประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมพื้นที่โครงการเศรษฐกิจพิเศษและโครงการทวาย ตามที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจ และหากมีข้อติดขัด ขอให้ประสานกับรัฐบาลไทยได้โดยตรง เพื่อจะได้ปรับปรุงให้เหมาะสม โดยจะเร่งรัดความร่วมมือโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการของไทยจะสอดคล้องกับ “แผนยุทธศาสตร์โตเกียว 2015” ฉบับใหม่ ที่จะช่วยให้ภูมิภาคให้เป็นฐานการผลิตที่ยั่งยืนของญี่ปุ่น
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th