ประชุมคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือ กศน.

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2015 10:18 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ครั้งที่ 1/2558 โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนองค์กรเอกชน เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านที่มาช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือเรื่องของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของกระทรวงศึกษาธิการให้ประสบผลสำเร็จและบรรลุผลตามความมุ่งหมาย

จากการหารือกับเลขาธิการ กศน.ได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ 2 เดือนต่อครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาในเรื่องที่มีความจำเป็น รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. เชื่อมั่นว่ากรรมการแต่ละท่านที่เข้ามาร่วมในคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ที่มีขีดความสามารถสูง และจะให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสำนักงาน กศน.ที่มีขอบข่ายงานอยู่ทั่วประเทศให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ได้

การดำเนินงานของสำนักงาน กศน. เข้าไปแทรกอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกตำบล ลงไปสู่ระดับหมู่บ้าน ต้องถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่เข้ามาเติมเต็มการศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น ไม่ว่าประชาชนจะพ้นวัยจากการศึกษาในระบบไปแล้วแต่มีความจำเป็นหรือความต้องการที่จะศึกษาเพิ่มเติม ก็มีสำนักงาน กศน.เข้ามาช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ

สำนักงาน กศน.ก็มีหน่วยงาน/ศูนย์อบรม สิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถให้ความรู้แก่ประชาชนได้อย่างครบถ้วน จะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดูแลจะเติมเต็มไปได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา หรือผู้ที่ขาดโอกาส ผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องออกจากการศึกษาในระบบ เมื่อมีความพร้อมแล้ว ก็ยังสามารถกลับเข้ามาสู่การศึกษาได้ผ่านช่องทางของ กศน. เนื่องจากขอบข่ายงานของสำนักงาน กศน.ที่มีความกว้างขวาง และมีหลายกิจกรรมอยู่ในความรับผิดชอบ

การประชุมครั้งนี้ ได้พิจารณาในประเด็นสำคัญสรุป ดังนี้

เห็นชอบ Roadmap ปฏิรูป กศน. เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตใน 5 ปีข้างหน้า

ที่ประชุมเห็นชอบร่าง Roadmap ปฏิรูป กศน. เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (พ.ศ.2559-2563) มีเจตนารมณ์หลัก คือ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของประเทศไปสู่การปฏิบัติ โดยมี 7 องค์ประกอบ แต่ละองค์ประกอบมีความสอดคล้อง สนับสนุน และเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เป็นการมองภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า สำนักงาน กศน.จะขับเคลื่อนภารกิจเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้อย่างไร

7 องค์ประกอบของร่าง Roadmap ปฏิรูป กศน. มีดังนี้

1) วิสัยทัศน์ เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย เข้าถึงโอกาสทางการศึกษานอกโรงเรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เป็นพลเมืองดี มีศักยภาพ สามารถอยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีความสุข เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และนำไปสู่การเป็น “ประเทศที่มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”

2) เจตนารมณ์ คือ การสร้างโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ร่วมเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนากำลังคนของประเทศ

3) หลักการ คือ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาทั้งปวง การเรียนรู้ต้องเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต และยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ

4) เป้าหมาย เชิงปริมาณ ได้แก่ ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพิ่มมากขึ้น ประชากรกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อย ผู้พลาด และผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาได้รับบริการการศึกษาทางเลือกเพิ่มมากขึ้น และ กศน.ตำบลให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายเชิงคุณภาพ คือ ผู้ร่วมกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสามารถนำความรู้ความสามารถไปใช้ในชีวิตประจำวัน/การดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้น

5) ตัวชี้วัด เชิงปริมาณ ได้แก่ จำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ร้อยละของครู กศน.ตำบลที่ได้รับการอบรมการใช้หลักสูตรและร้อยละของครู กศน.ตำบลที่มีหลักการจัดทำแผนการสอน อัตราส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อจำนวนนักศึกษา ร้อยละขอแหล่งวิทยาการชุมชนทุกแห่งที่มีผู้ร่วมกิจกรรม กศน.ไปใช้บริการในรอบปี 100 คนขึ้นไป ร้อยละของ กศน.ตำบลที่มีความพร้อมในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ร้อยละของประชากรวัยแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยและอัตราการรู้หนังสือของประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปีขึ้นไป) และอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ลงทะเบียนเรียน/ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวนประชากรผู้ด้อย ผู้พลาด ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาที่ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้การศึกษาทางเลือกของประชาชน ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ ร้อยละของนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าร้อยละ 30 ของคะแนนเต็ม ร้อยละของผู้จบหลักสูตร/ร่วมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องที่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร/กิจกรรม

6) กรอบแนวทางการปฏิรูป ด้านกลไกการมีส่วนร่วม คือ สร้างระบบการมีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย พัฒนากรอบมาตรฐานให้ตอบสนองเจตนารมณ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้านช่องทางการเรียนรู้ คือ การพัฒนาความพร้อมของแหล่งวิทยาการชุมชน สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ และพัฒนาระบบการประเมินการเรียนรู้ ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยการพัฒนากรอบมาตรฐาน ระบบการพัฒนา และระบบการประเมิน ด้านระบบงบประมาณและทรัพยากร คือ การพัฒนาระบบการจัดสรร ระบบการประเมินใช้ สร้างกลไกการตรวจสอบการใช้ ด้านระบบบริหารจัดการ คือ การสร้างระบบการบริหารที่มีความเป็นธรรม ปฏิรูปกลไกการบริหาร การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและสร้างองค์กรคุณภาพ

7) กลไกการขับเคลื่อนและสนับสนุน ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการประธานกลุ่ม/โซน (ขณะนี้มี 19 กลุ่ม/โซน) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่จังหวัด คณะกรรมการปฏิรูป กศน. คณะกรรมการภาคีเครือข่าย รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือ กศน.

ที่ประชุมได้เสนอข้อคิดเห็นว่า ต้องทำ Roadmap ในเชิงคุณภาพให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แบบ Virtual Online สำหรับผู้ที่ย้ายถิ่นฐานบ่อย เน้นการจัดการศึกษาที่ให้ประชาชนได้รับความรู้มากกว่าปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ การจัดกิจกรรมจะต้องไม่ใช้งบประมาณมากเกินไป และต้องไม่ถูกนำไปใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การฝึกอาชีพที่เข้ากับบริบทของสังคมในแต่ละพื้นที่ ขยายระยะเวลาของ Roadmap จาก 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) เป็น 7 ปี (พ.ศ. 2558-2564) เพื่ออิงกับระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงมีการเสนอแนวทางการปฏิรูป กศน.เพิ่มเติมในการเน้นคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของ กศน. สร้างสังคมประชาธิปไตย มุ่งเน้นการศึกษาเพื่ออาชีพ และการศึกษาเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของ กศน.รู้จักการอยู่ร่วมกับคนในอาเซียนได้อย่างมีความสุข

เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ปีงบประมาณ 2558

ที่ประชุมเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ซึ่งมีประเด็นยุทธศาสตร์ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และ 3) การมีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วไป

โดยมีเป้าประสงค์คือ ประชาชนผู้รับบริการทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย มีความรู้ความสามารถรอบด้าน เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของการมีคุณธรรม จริยธรรม ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ มีศักยภาพในการผลิตทางเศรษฐกิจ มีการสร้างสังคมคุณภาพ มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และมีความใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

จึงนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองนโยบายเร่งด่วน (หวังผลใน 3 เดือน) ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง/หลักสูตรสถานศึกษา/หลักสูตรท้องถิ่น/หลักสูตรตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การนำคูปอง กศน.หรือคูปองการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ การพิจารณาการอุดหนุนรายหัวแก่ผู้เรียน
  • ยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองนโยบายเฉพาะ (หวังผลใน 1 ปี) ได้แก่ การแก้ไขปัญหา กศน.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนา กศน.ให้มีความพร้อมทางด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารและทักษะอาชีพ การนำสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีคุณภาพมาใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาระบบการนิเทศ การกำหนดแนวทางการดำเนินการในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือกของประชาชน การติดตามผลของหน่วยงานและสถานศึกษาทุกระดับ บริหารจัดการ กศน.โดยใช้นโยบายและแผน การกระจายอำนาจ
  • ยุทธศาสตรต์ที่ตอบสนองนโยบายทั่วไป (ไม่กำหนดเวลา) ได้แก่ ปฏิรูปการดำเนินงาน กศน.เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การกระจายโอกาสทางการศึกษาให้สามารถเข้าถึงประชาชนที่อยู่นอกระบบได้อย่างทั่วถึง การสร้างอุดมการณ์ให้นักศึกษา กศน.และผู้รับบริการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการพยายามติดตามเด็กที่ออกจากระบบการศึกษากลางคัน เมื่อติดตามได้แล้วก็จะเข้าไปรับฟังปัญหาและดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อดึงเด็กเหล่านี้กลับเข้ามาในระบบ หากไม่สามารถกลับเข้าสู่การศึกษาในระบบได้ ก็จะใช้การศึกษานอกระบบเข้ามาช่วยโดยกระทรวงศึกษาธิการจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ เพราะเด็กที่ออกจากการศึกษาในระบบส่วนใหญ่จะออกไปเพื่อทำงาน และจะมีเวลาว่างในช่วงกลางคืน จึงได้มีการเปิดหลักสูตร กศน.ภาคค่ำ เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ และพัฒนาศักยภาพตนเองให้สูงขึ้น

รับทราบร่างพระราชบัญญัติการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. ....

ที่ประชุมรับทราบร่างพระราชบัญญัติการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. .... ซึ่งปรับปรุงมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 มีองค์ประกอบสำคัญ คือ เจตนารมณ์ หมวดทั่วไป หมวดการจัดการศึกษานอกระบบ หมวดการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย หมวดการศึกษาทางเลือกของประชาชน หมวดการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย หมวดการบริหารจัดการ กศน. และบทเฉพาะกาล มีสาระบัญญัติจำนวน 43 มาตรา โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีดังนี้

  • แนวความคิด เป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยและการสำรวจข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหาอุปสรรคจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกช่วงวัย ทั้งการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาทางเลือกให้กับผู้ด้อย ผู้พลาดและผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้มีสิทธิและโอกาสที่เสมอภาคกันในการพัฒนาศักยภาพตนเองหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ตลอดจนร่วมพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีศักยภาพในการนำพาประเทศสู่การเป็น “ประเทศที่มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” และเพื่อปฏิรูประบบการบริหารจัดการการศึกษานอกโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทิศทางและนโยบายที่ได้ศึกษามาในเบื้องต้น ประการแรก คือ แนวทางการพัฒนาการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ โดยเฉพาะการศึกษาทางเลือกของประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและโอกาสของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ สร้างสังคมไทย และตอบสนองการพัฒนาประเทศ นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และตอบสนองวิสัยทัศน์ของประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. เช่น

จัดทำระบบหอสมุดแห่งชาติทุกอำเภอ ทุกจังหวัดที่มีหนังสือดีที่ทุกคนควรได้อ่าน ทั้งแบบเป็นรูปเล่มและแบบออนไลน์ จัดทำมุมเทคโนโลยีสารสนเทศภายในห้องสมุด มีการจัดการศึกษาในชุมชน ทำชุมชนเสมือนโรงเรียน และพัฒนาแหล่งความรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้สะดวก จัดการศึกษาที่มุ่งเน้นอาชีพ ขณะเดียวกันก็เสริมทักษะด้านอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น ทักษะด้านภาษา รวมถึงการบูรณาการและการสื่อสารกับภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้ทั่วถึงและมีคุณภาพ

ให้กำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรภายในหน่วยงานซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ

ให้มีการหารือกันว่าใช้ร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับแก้มาจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 เฉพาะส่วนที่มีความจำเป็นหรือจะเป็นการยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากการปรับแก้จาก พ.ร.บ.เดิมจะใช้เวลาในการเสนอผ่านกฤษฎีกาน้อยกว่า จึงเห็นว่าควรมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รวมถึงพิจารณาการใช้ถ้อยคำและความครอบคลุมของภาษาในร่าง พ.ร.บ.ให้มีความถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น

ในการนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงาน กศน.นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปพิจารณาว่าควรจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสม โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอีก เนื่องจากจะเป็นการประชุมเพียง 2 เดือนครั้ง อาจไม่ทันดำเนินการในขั้นต่อไป แต่อาจนำเสนอปลัดกระทรวงศึกษาธิการและ รมว.ศึกษาธิการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

กุณฑิกา พัชรชานนท์ – บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน

ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ