กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2558 –กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เร่งเครื่องอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าไทยช่วงครึ่งปีหลัง ดันยอดส่งออกทะลุ 6 หมื่นล้านบาท หลังแนวโน้มการส่งออกในปีนี้พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 4.75 จากช่วงไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา รุกสร้างตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ประจำประเทศ (Signature brand of Thailand) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแฟชั่นไทยเทียบชั้นนานาชาติโดยเฉพาะการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการผู้คนที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพเท้ามากขึ้น โดยเฉพาะ“นวัตกรรมรองเท้าแฟชั่นเพื่อสุขภาพ”เดินหน้าจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาผู้บริหารการผลิตระดับกลางในอุตสาหกรรมแฟชั่น โครงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมโดยจัดผู้เชี่ยวชาญลงไปวินิจฉัยและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกถึงโรงงาน โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เป็นต้น พร้อมเปิดตัวต้นแบบโรงงานที่นำความรู้จากการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของ กสอ.มาประยุกต์ใช้จนประสบผล ทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 5 แสนล้านบาท และบริโภคในประเทศกว่า 3.2 แสนล้านบาท และด้วยลักษณะของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวเนื่องกระจายการผลิตสินค้าอยู่ทั่วประเทศ จึงก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน (ข้อมูล: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) เมื่อแยกเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้ายอดการส่งออกโดยเฉลี่ยช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาประมาณ 53,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตัวเลขการส่งออกดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในเรื่องการผลิตสินค้าที่มีความประณีตและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งมอบสินค้าตรงเวลา
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง กสอ.จึงเดินหน้าพัฒนายกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการผ่านกิจกรรม ภายใต้โครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นยอดขายและการสั่งซื้อได้มากขึ้นไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ อาทิ
โครงการพัฒนาผู้บริหารการผลิตระดับกลางในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อพัฒนาทักษะของผู้บริหารระดับกลางและหัวหน้างานให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารงานสมัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมโดยจัดผู้เชี่ยวชาญไปวินิจฉัยและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกถึงโรงงานทั้งในด้านกระบวนการผลิตการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากร ตลอดจนลดปัญหาและอุปสรรคในการผลิต
โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ที่มุ่งมั่นยกระดับให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตสู่การเป็นผู้ออกแบบสินค้าและมีตราสินค้า(แบรนด์)เป็นของตนเอง พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำประเทศ (Signature brand of Thailand) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแฟชั่นไทยเทียบชั้นนานาประเทศได้โดยเฉพาะการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆตอบโจทย์ความต้องการผู้คนที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพเท้ามากขึ้น โดยเฉพาะ“นวัตกรรมรองเท้าแฟชั่นเพื่อสุขภาพ” โดยนอกจากความสวยงามแล้วผู้สวมใส่ยังได้รับการนวดกดจุดไปในตัวด้วย จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ของคนในยุคปัจจุบัน
นางสาวนิสากร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมรองเท้าไทยผู้ผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนประกอบของไทยนั้น จัดอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน เห็นได้จากผลงานและเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการในระดับโลก โดยไทยถือเป็นฐานผลิตใหญ่ มีฝีมือและงานดีไซน์ที่โดดเด่น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างโอกาสในการขยายช่องทางพัฒนาสินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งสถานการณ์อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่นับถอยหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าการแข่งขันต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยตลาดส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของไทยใน AECคือ เมียนมาร์ โดยในปี 2557สามารถส่งออกได้กว่า 1.44 พันล้านบาท ขยายตัวจากปี 2556 ร้อยละ 10.73 ในขณะที่เวียดนามสั่งวัตถุดิบ เช่น หนังฟอกจากไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งในปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 4.5พันล้านบาท จึงคาดว่าภายหลังการเข้าสู่ AEC จะทำให้อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าไทย ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ คือ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนประกอบ หนังฟอกหนังอัดสำเร็จรูปจะขยายตัวได้เป็นเท่าตัว
ด้านนางสาวกรกนก สว่างรวมโชค เจ้าของแบรนด์ชูเบอร์รี่ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตเร็วมาก การแข่งขันก็สูงมากขึ้นเพราะมีแบรนด์ไทยน้องใหม่ตบเท้าเข้าตลาดแฟชั่นมากมายชูเบอร์รี่จึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ในตลาดรองเท้าที่มีแรงกดดันและการแข่งขันที่ดุเดือด ทั้งนี้หลังจากได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การฝึกอบรมผู้นำโซ่อุปทานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้านอุตสาหกรรมเครื่องหนัง การส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่น ในหลากหลายกิจกรรม อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นด้านอุตสาหกรรมเครื่องหนัง การผลิตรองเท้าเพื่อเข้าสู่ AEC การตลาดกับการผลิตรองเท้านอกตำรา การออกแบบนวัตกรรมเครื่องหนังแฟชั่น เป็นต้น ช่วยให้บริษัทสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้อย่างเห็นผล ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์รองเท้าจนได้รับ รางวัลนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2013 จากรองเท้าโซฟาชู (Sofa Shoes)รองเท้าแฟชั่นเพื่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน โดยมียอดขายไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท
นางสาวกรกนก กล่าวต่อว่า จุดเริ่มต้นของรองเท้าโซฟาชูนั้น มาจากตนเองที่ประสบอุบัติเหตุจนเดินไม่สะดวกอยู่หลายเดือน จึงต้องการรองเท้าที่ตอบสนองกับการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งช่วยบำบัดอาการของโรครองช้ำ ผลกระจากอุบัติเหตุนั้นได้ จึงคิดค้นนวัตกรรมรองเท้านวดสกัดจุดนี้ขึ้น และพัฒนาเรื่อยมาโดยได้ที่ปรึกษาจาก กสอ. เข้ามาให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งภายหลังการได้รับรางวัลดังกล่าวช่วยให้แบรนด์ชูเบอร์รี่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพเท้ามากขึ้นส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อและยอดการผลิตเพิ่มมากขึ้นถึงเดือนละ 1000 คู่ จากเดิมแค่ 500 คู่ต่อเดือน เนื่องจากโซฟาชูเป็นรองเท้าที่นอกจากจะมีรูปแบบที่สวยงามแล้ว คุณสมบัติพิเศษที่ผู้บริโภคต่างให้การยอมรับคือการนวดสกัดจุดทั้งในขณะยืนและเดิน รวมถึงรองเท้ามีความยืดหยุดด้วยซิลิโคนที่สั่งทำพิเศษไม่ยุบง่าย
อย่างไรก็ตาม นอกจากโซฟาชูแล้ว ขณะนี้ชูเบอร์รีกำลังต่อยอดผลิตภัณฑ์รองเท้าแฟชั่นเพื่อสุขภาพโดยได้เปิดตัว ชูเบอร์รี่คอมฟี่ชู ขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นรองเท้าแฟชั่นเพื่อสุขภาพแต่ไม่เน้นสุขภาพเท่าโซฟาชู เพราะวัตถุดิบที่ใช้สำหรับพื้นรองเท้าจะเป็นฟองน้ำที่หนาแน่นช่วยให้การสวมใส่รองเท้าส้นสูงสำหรับผู้หญิงสบายขึ้น ผลิตภัณฑ์ของชูเบอร์รี่นอกจากรองเท้าแล้วยังมีกระเป๋าที่สามารถสร้างการจดจำแบรนด์ได้ด้วยคอลเลคชั่นเมควิธเลิฟ (Make with Love) พิเศษคือสามารถสั่งทำแผ่นเหล็กติดชื่อตัวเองบนกระเป๋าได้ ทั้งนี้ สำหรับในอนาคตชูเบอร์รี่ตั้งเป้าจะขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม AEC ที่ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ของชูเบอร์รียู่แล้ว โดยขณะนี้ได้นำร่องขยายไปยังประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงหรือCLMV คือ ลาว ที่ซื้อเฟรนไชส์จากเราไปตั้งร้านที่ประเทศตนเองแล้วเมื่อเดือนก่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายในกลยุทธ์การตลาดของชูเบอร์รี่ที่ต้องการหาตัวแทนเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจสู่ตลาดต่างเทศในอนาคต นางสาวกรกนก กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr
ที่มา: http://www.thaigov.go.th