Nikkei Bangkok Forum เป็นงานสัมมนา เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับหนังสือพิมพ์ Nikkei ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักธุรกิจญี่ปุ่นทั้งที่ลงทุนในไทย ญี่ปุ่นและประเทศในอาเซียน ประมาณ 400 คน ในหัวข้อ “Business Strategy in the Era of ASEAN Economic Community: Thailand, a major manufacturing hub for Japan (ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทย: ศูนย์กลางการผลิตสำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น)”
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดี และเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มาเปิดงานสัมมนา และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ” ในวันนี้
ประเทศญี่ปุ่นและไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน ในทุกระดับ โดยมีความร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา รวมถึงการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ จนนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การลงนามความตกลง JTEPA เมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันครบรอบ 120 ปี
ทั้งนี้ ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาคอาเซียนของญี่ปุ่นมายาวนานกว่า 30 ปี (พ.ศ. 2528-2557) โดยมีโครงการของบริษัทญี่ปุ่นได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กว่า 8,000 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 3.2 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในระดับสูง ทำให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บุคคลากรไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดี
การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 ของไทยและประเทศต่างๆในอาเซียนจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ทั้งความร่วมมือระดับรัฐ ภาคเอกชน และระหว่างประชาชนด้วยกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมายคือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปสู่ฐานการผลิตเดียวกัน โดยประเทศสมาชิกจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบและระบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบศุลกากรในลักษณะ Single Window การให้สินค้าเป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ AEC ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและขยายกรอบความร่วมมือในระดับโลก โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือกับหลายประเทศภายใต้กรอบอาเซียน เช่น อาเซียน+3 อาเซียน+6 รวมถึงความร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตไม่แพ้ภูมิภาคอื่น และเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสทางธุรกิจ
โดยภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลเร่งดำเนินงานในหลายด้าน เช่น การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเป็น AEC โดยการประกาศนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน พรมแดนยาวกว่า 5,000 กิโลเมตร ติดต่อกับเมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย มีประชากรรวมกันประมาณ 100 ล้านคน มีจุดผ่านแดนรวม 90 จุด กระจายอยู่ใน 25 จังหวัดตามแนวชายแดน มูลค่าการค้าชายแดนรวมกันกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยบวกในการทำธุรกิจและติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน
จากศักยภาพดังกล่าว รัฐบาลพยายามผลักดันให้การค้าและการลงทุนในพื้นที่ชายแดนขยายตัวสูงขึ้น ได้มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ชายแดนไทย-เมียนมา ที่จังหวัดตากและกาญจนบุรี ชายแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดสระแก้วและตราด ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่จังหวัดสงขลาและนราธิวาส
นอกจากนี้ รัฐบาลวางแผนพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยจะเน้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2เชื่อมระหว่างแม่สอดและเมียวดี เพื่อให้มีโครงข่ายการคมนามคเชื่อมโยงเป็นระบบเสริมสร้างการค้าชายแดนให้เติบโต ทำให้การขนส่งสินค้ารวดเร็วและประหยัดเวลามากขึ้น
ส่วนการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการส่งเสริมการลงทุน รัฐบาลได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานและกรอบเวลาในการดำเนิการต่างๆที่ชัดเจน และให้หน่วยงานภาครัฐมาร่วมให้บริการในจุดเดียวแบบ one stop service โดยได้มอบให้ BOI ขยายขอบข่ายการให้บริการที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งให้บริการข้อมูลและคำปรึกษา แนะนำการลงทุนในกิจการสำนักงานข้ามประเทศ (IHQ) และกิจการการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ตลอดจนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อได้รับความสะดวกรวดเร็ว และความโปร่งใสในการติดต่อกับภาครัฐของไทย
นอกจากนี้ การพัฒนาบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ต และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ จะเป็นฐานสำคัญของการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือด้าน ICT ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับภูมิภาคอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางด้าน ICT แห่งหนึ่งของโลก
ด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุน นายกรัฐมนตรีใช้โอกาสนี้ในการเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งการลงทุนเอง หรือร่วมกับภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาไทยที่มีงานวิจัยพร้อมให้ภาคธุรกิจนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของ GDP โดยผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น ในสัดส่วนของภาครัฐต่อภาคเอกชน 30 : 70 ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะสามาถช่วยพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินการดังกล่าวควบคู่ไปกับนโยบายการปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และผลิตบุคคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการตลาด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอการสนับสนุนจากบริษัทญี่ปุ่นให้ช่วยฝึกอบรม โดยที่ผ่านมาทางญี่ปุ่นให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เช่น การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ BOI และหนังสือพิมพ์ Nikkei ที่ได้จัดงานสัมมนาขึ้นในวันนี้ และใช้โอกาสนี้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างบรรยากาศที่น่าลงทุนแก่ประเทศไทย เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศในอนาคตเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความเชื่อมั่นและเข้าใจประเทศไทย และช่วยผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญในภูมิภาค พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าสร้างบรรยากาศที่ดีของการลงทุน และประเทศไทยจะยินดีต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นด้วยมิตรภาพตลอดไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th