พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการค้ามนุษย์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยถูกลดระดับ ความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ จาก Tier ๒ Watch List เป็น Tier ๓ โดยอ้างว่า ประเทศไทยยังดำเนินการ ไม่เพียงพอในการคัดแยก และให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหา ค้ามนุษย์ ทั้งกรณีการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก การบังคับใช้แรงงานในภาคประมง และการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เป็นการ ค้าประเวณี ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการดำเนินการจับกุมไปแล้วใน ๑๖ จังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีสถานบริการ จำนวนมาก และเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านสตรี ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ขึ้น โดยกำหนดแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยหลุดจาก Tier๓ มียุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อน ๓ ด้าน ได้แก่ ๑)การป้องกัน เน้นการกวดขัน จุดผ่านแดน ทบทวน MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน กำหนดพื้นที่เป้าหมายจังหวัดชายแดน เฝ้าระวังสถานบริการ และทำความเข้าใจกับบริษัทท่องเที่ยวเพื่อป้องกัน sex tour ๒)การบังคับใช้กฎหมาย เน้นให้ความสำคัญกับการสืบสวนจับกุมดำเนินคดี กับขบวนการค้าประเวณีเด็กและสตรี การเอาผิดร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดเรื่องค้ามนุษย์ และการเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง และ ๓)การคุ้มครองเยียวยา เน้นให้มีการคัดแยกเหยื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกกรณี พัฒนาคู่มือการคัดแยกเหยื่อและจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เพิ่มล่ามให้เพียงพอ ทั้งในด้านปริมาณและภาษา พร้อมปรับปรุงสถานที่ดูแลคุ้มครองผู้เสียหายให้มีมาตรฐาน สำหรับพื้นที่เป้าหมาย จะเน้นพื้นที่ ๓๗ จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ติดชายแดน และเป็นพื้นที่ที่มีคดีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นมาก คือ กรุงเทพฯ จังหวัดในภาคกลาง ๑๒ จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๘ จังหวัด ภาคใต้ ๗ จังหวัด และภาคเหนือ ๙ จังหวัด
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการคุ้มครองเด็ก สตรี จากการ ค้ามนุษย์ ความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว นี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้แผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี ซึ่งกำหนดดำเนินการจำนวน ๖ รุ่น ครอบคลุมพนักงานสอบสวน หญิงชาย จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑–๙ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อนหญิง และ UN Women มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๕ จากจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๖ จากจังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี รวมจำนวน ๑๕๐ คน ซึ่งมีกิจกรรมทั้งการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน การระดมความคิดเห็น และฝึกปฏิบัติด้านการสอบสวน เป็นต้น
ที่มา: http://www.thaigov.go.th