การพัฒนาเด็กและเยาวชน : โอกาสและความเสมอภาคไร้พรมแดน เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ข่าวทั่วไป Tuesday June 30, 2015 16:26 —สำนักโฆษก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ "การพัฒนาเด็กและเยาวชน : โอกาสและความเสมอภาคไร้พรมแดนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 และทรงกล่าวบรรยายพิเศษ “ประสบการณ์การพัฒนาเด็กและเยาวชน” เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2558 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกgระทรวงการต่างประเทศ รศ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการจาก 14 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในภูมิภาค ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จและเข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวบรรยายพิเศษ “ประสบการณ์การพัฒนาเด็กและเยาวชน” โดยมีใจความว่า

“กว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีการจัดการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งปรากฏผลและได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเป็นอย่างมาก จึงหวังว่างานที่เราได้ดำเนินการกันมาจะเป็นดั่งหยดน้ำเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในมหาสมุทรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนของประเทศ

สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปเมืองต่างๆ แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่สามารถทำประโยชน์อันใดได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยข้าพเจ้าได้เห็นภาพของประเทศในมุมที่แตกต่างจากที่คิดไว้ ข้าพเจ้าได้เล่นกับเด็กเล็กและเด็กโตที่อาศัยตามหมู่บ้านชาวเขา ข้าพเจ้าเห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถคอยสนับสนุนให้ชาวบ้านเรียนรู้การทำงานฝีมือ เช่น การทอ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ รวมทั้งการสอนชาวบ้านให้สามารถอ่านออกเขียนได้ การรู้หนังสือมีความสำคัญสำหรับทุกคน ผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้จะมีโอกาสน้อยที่จะถูกหลอกหรือถูกโกง ระหว่างปิดภาคเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝึกให้ข้าพเจ้าคำนวณค่าใช้จ่ายและรายได้ของครอบครัวที่ค่อนข้างลำบาก ข้าพเจ้าจึงได้ทดลองทำการวิจัยเล็กๆ เกี่ยวกับราคาของสินค้าที่ครอบครัวต้องใช้ทุกวัน การลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้ของครอบครัว

เมื่อข้าพเจ้าโตขึ้น ข้าพเจ้าสามารถทำประโยชน์ได้มากขึ้นด้วยการช่วยสอบถามชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือจากอาการเจ็บป่วย ด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน รวมถึงการฝึกอบรมสำหรับเด็กโต จากนั้นข้าพเจ้าจึงเขียนรายงานถึงสภาพความเป็นจริงและเพิ่มข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของข้าพเจ้าลงไปด้วย สิ่งนี้จะช่วยคณะทำงานที่ติดตามงานนั้นได้มาก ในระหว่างการเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ข้าพเจ้าสังเกตได้ว่าเด็กบางคนมีร่างกายที่ผอมมาก บางบ้านมีอาหารไม่เพียงพอกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว บางครอบครัวผู้ปกครองต้องออกไปทำงานแต่เช้าจึงไม่สามารถเตรียมอาหารเช้าให้ลูกได้ ข้าพเจ้าจึงได้ริเริ่มโครงการและการทดลองกับนักเรียนจากโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 3 แห่งโดยใช้ทรัพย์สินส่วนตัว และเพิ่มจำนวนโรงเรียนในโครงการ มีการบริจาคเงินและมีผู้ให้ความร่วมมือทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งมีนักโภชนาการมาช่วยดูอาหารและปริมาณที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย นอกจากนี้ มีการสอนให้นักเรียนรู้จักการปลูกพืชผัก ผลไม้สำหรับบริโภคโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือใช้ให้น้อยที่สุด รวมถึงการสอนให้นักเรียนผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อรักษาหน้าดินและมีพืชผักไว้รับประทานตลอดปี สำหรับการเลี้ยงสัตว์ นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการให้อาหารสัตว์ การดูแลสัตว์ให้มีสุขภาพดี

ต่อมามีหน่วยงานเข้ามาร่วมมือด้วยการจัดโปรแกรมหรือกิจกรรมเพิ่มเติมในโครงการอาหารกลางวัน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการจัดอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ กรมพัฒนาที่ดินที่เปิดการอบรมหลักสูตรหมอดินนานาชาติและหมอดินรุ่นใหม่ และขณะนี้กรมชลประทานกำลังพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการน้ำสำหรับวิศวกรน้ำรุ่นใหม่ ในส่วนของโรงเรียนระดับประถมศึกษาก็มีการจัดโปรแกรมที่เกี่ยวกับโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย รวมถึงการดูแลสุขภาพของวัยรุ่น และวัยแรกเกิดจนถึง 3 ขวบตามที่ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันได้ให้ข้อเสนอแนะไว้

ข้าพเจ้ายังได้นำระบบสหกรณ์มาใช้ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ แต่ละโรงเรียนมีร้านค้าสหกรณ์อยู่แล้ว เมื่อมีผลผลิตออกก็สามารถขายให้กับสหกรณ์โรงเรียนได้ ผลผลิตบางประเภทสามารถนำไปผ่านกระบวนการถนอมอาหารได้ เช่น การทำผักดอง และสหกรณ์โรงเรียนก็สามารถนำผลผลิตที่ได้ไปขายให้กับโรงครัวของโรงเรียนได้ด้วย สินค้าภายในร้านค้าของโรงเรียนจะมีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสามารถซื้อได้ตามความต้องการในราคาขายส่ง การนำระบบสหกรณ์มาใช้ในโรงเรียนจะเป็นการฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำบัญชี ถือเป็นการพัฒนาความสามารถทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน และนักเรียนจะสามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองได้ สมาชิกของคณะกรรมการสหกรณ์จะต้องประชุมร่วมกันเป็นประจำ ซึ่งเป็นการเรียนรู้หลักการประชาธิปไตยด้วยการชี้แจงอย่างมีเหตุผลและรับฟังความเห็นของผู้อื่น

ในประเด็นเรื่องสุขภาพ ข้าพเจ้าให้ความสนใจกับเรื่องของสุขอนามัยเป็นอย่างมาก อาคารเรียนและบริเวณโดยรอบจะต้องสะอาด โดยเฉพาะโรงครัวและห้องน้ำ ภาชนะบรรจุอาหารจะต้องไม่มีสารพิษเจือปน สำหรับเด็กที่มาจากพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโรงเรียนหรือมีไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก เราจึงได้สร้างหอพักใกล้โรงเรียน พร้อมด้วยอาหาร 3 มื้อสำหรับเด็กเหล่านี้ ความปลอดภัยในโรงเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันมีโรงเรียนจำนวนมากที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินกว่าที่ระบบไฟฟ้าของโรงเรียนจะรองรับ และอาจทำให้เกิดไฟไหม้หรือไฟฟ้าลัดวงจรได้

ข้าพเจ้าส่งเสริมให้ครูศึกษาเพิ่มเติมทั้งในด้านเนื้อหาสาระและวิธีการสอน ด้วยการใช้ระบบศึกษาทางไกลแทนที่จะส่งครูไปศึกษาเพิ่มเติมตามที่ต่างๆ มีการส่งเสริมให้ครูและนักเรียนสนใจการอ่านมากขึ้นด้วยการเปิดห้องสมุด ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วหรือชาวบ้านก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ และยังมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์ได้ง่าย มีการจัดเตรียมเครื่องมือและสื่อการศึกษาที่สำคัญ เช่น การใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบดาวเทียม วิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ หอกระจายข่าว หนังสือ ดินสอ เป็นต้น

ข้าพเจ้าส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนศึกษาเล่าเรียนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ มีทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้น การเข้าค่าย การฝึกอบรมและการประชุมจากหลายประเทศสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถและครูจำนวนมาก การอาชีวศึกษาก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน เพราะนักเรียนที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาแต่มีทักษะด้านอาชีพ ก็สามารถหางานสุจริตทำได้ ในการเรียนวิชาหัตถกรรม ข้าพเจ้าได้แนะนำครูผู้สอนให้นำวัสดุท้องถิ่นมาใช้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และทักษะการทำงาน และจะมีร้านค้าสำหรับขายสินค้าที่ผลิตโดยนักเรียนหรือชาวบ้าน รายได้ที่ได้จากการขายสินค้าก็จะกลับไปสู่ชาวบ้านและโรงเรียน โครงการเกษตรกรรมในโรงเรียนสามารถช่วยชาวบ้านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ด้วยการมอบต้นกล้าไม้ผล เมล็ดผักสวนครัว ไก่ หรือเป็ดที่ขยายพันธุ์ในโรงเรียน และการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้

แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะมีการสอนตั้งแต่ในปี 2554 เราได้พัฒนาชุดกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์เกี่ยวกับป่าไม้ที่อยู่รอบตัวและในชุมชน ได้รับความรู้และความเข้าใจ ความชื่นชมกับความสวยงามของธรรมชาติ จะได้มีความต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติและไม่ทำลายมันลง

ในโรงเรียนที่ข้าพเจ้าดำเนินโครงการนั้น มีนักเรียนที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ จึงควรจะต้องมีการเรียนรู้ การอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ศาสนาหรือความเชื่อ งานหัตถกรรม ยาสมุนไพร เพลงและการเต้นรำพื้นเมือง นิทานพื้นบ้าน จารีตประเพณี ภาษาและสำเนียงท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเราพยายามยกระดับความสามารถของเด็กด้วยการดำเนินการแบบองค์รวม ครอบคลุมการพัฒนาทางสติปัญญา หรือ “พุทธิศึกษา” พัฒนาการด้านจริยธรรม หรือ “จริยศึกษา” พัฒนาการด้านทักษะการทำงาน หรือ “หัตถศึกษา” และการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อการมีสุขภาพที่ดี หรือ “พลศึกษา”

ปัจจุบัน ในบางพื้นที่ของประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียน เราพยายามเปิดโอกาสทางการศึกษาในหลายวิธี เช่น การก่อสร้างโรงเรียนบนพื้นที่ที่ได้ทำการสำรวจมาแล้ว และชาวบ้านยินดีที่จะช่วยสร้างโรงเรียนเพื่อลูกหลานในพื้นที่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งอาจเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้สังกัดกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนหรือกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) รวมทั้งมีผู้ต้องการบริจาคเพื่อช่วยสร้างโรงเรียนและจัดหาอุปกรณ์การศึกษา การเกษตร และเครื่องครัวให้กับโรงเรียน ที่สำคัญกว่านั้น การกระทำดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความมีส่วนร่วมและความภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของได้ดี นอกเหนือจากโรงเรียนทั่วไปแล้ว เราก็ได้รับประสบการณ์ในการทำงานกับโรงเรียนสอนศาสนา เช่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันศึกษาปอเนาะ เป็นต้น

ข้าพเจ้ามีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนจากหลายประเทศที่มีความสนใจในวิธีการพัฒนาเด็กและเยาวชนของไทย หลายคนได้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนและมีความร่วมมือในการจัดทำโครงการในประเทศนั้นแล้ว บางความคิดเห็นได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ต้องขอบคุณทุกคนที่มาร่วมการประชุมครั้งนี้ การมีส่วนร่วมของทุกคนมีคุณค่ามาก ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงระบบการเรียนรู้ของข้าพเจ้าและคนไทยที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ คือ ไม่ว่าจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องใดก็ตาม จะต้องปฏิบัติตามหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ สุ (การฟังและอ่าน) จิ การคิดและสังเกต) ปุ (การถาม) และ ลิ (การเขียน)”

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้อภิปราย เรื่อง “โอกาสและความเสมอภาคของเด็กและเยาวชน” โดยมีใจความ ดังนี้

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแรงบันดาลใจสำหรับทุกคนในการนำความรู้และความดีมาใช้ เพื่อสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคและความเอื้ออาทร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาประเทศไทยหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชีวิตของเด็กและเยาวชนที่มีฐานะลำบาก หรือที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน มีชีวิตที่ดีขึ้น กล่าวได้ว่า พรมแดนไม่อาจขวางกั้นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนได้

โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ตามกฎหมายของประเทศและกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในเรื่องของการศึกษาเพื่อปวงชน เด็กและเยาวชนไทยทุกคนจะต้องได้รับสิทธิตามกฎหมายในการได้รับการศึกษา อย่างไรก็ตาม มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่อยู่บนพื้นที่สูงและพื้นที่ชายขอบ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 ข้อ ได้แก่ 1) การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา 2) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา 3) การส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และการมีงานทำ 4) การพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล และ 5) การพัฒนาการจัดการศึกษาและกลไกการบริหารจัดการ ปัจจุบันมีโรงเรียนจำนวน 2,145 แห่ง ที่ดูแลให้การศึกษาแก่นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและบนพื้นที่สูงกว่า 400,000 คน มีโรงเรียนประมาณ 51 แห่งที่ให้การศึกษาแก่นักเรียนที่มีฐานะยากจนเกือบ 35,000 คน อีกทั้งมีโรงเรียนพิเศษและโรงเรียนทั่วไปจำนวนหนึ่งจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เพื่อรองรับนักเรียนที่มีความบกพร่องหรือพิการประมาณ 300,000 คน ดังนั้น เด็กที่ไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยก็ต้องได้รับการศึกษาจากโรงเรียนไทยด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่พลาดโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการให้ความรู้ทางวิชาการและทักษะการทำงานผ่านศูนย์การเรียนชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นการดึงผู้เรียนกลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

ในการนี้ ขอขอบคุณศูนย์การเรียนชุมชนสำหรับความพยายามอย่างต่อเนื่องที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ จึงมั่นใจได้ว่าประชาชนในพื้นที่จะสามารถเข้าถึงความรู้รอบด้าน เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อม ซึ่งจะทำให้มีรายได้สูงขึ้นโดยใช้ทักษะการทำงานที่ได้รับจากศูนย์การเรียนชุมชน

การก้าวข้ามพรมแดนเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งจำเป็นในยุคโลกาภิวัตน์ กระทรวงศึกษาธิการจึงขอยืนยันอีกครั้งว่าจะน้อมรับหลักการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทั้งหมดมาดำเนินการด้วยความมุ่งมั่น เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างทั่วถึง”

ภายหลังการอภิปรายในช่วงเช้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ณ ลานรื่นรมย์ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการ “การพัฒนาเด็กและเยาวชน” จาก 10 ประเทศ (บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มองโกเลีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม) และหน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการส่วนพระองค์ ได้แก่ องค์การยูเนสโก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

การประชุมวิชาการนานาชาติฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2558 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ครู ผู้ปฏิบัติงานจากองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งเกิดความร่วมมือในการแสวงหารูปแบบการพัฒนาเด็กและเยาวชนใหม่ๆ สมตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

กุณฑิกา พัชรชานนท์ – บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน

นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ

30/6/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ