วันนี้ (7ก.ค.58) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีสั่งการต่อที่ประชุมว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 จะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฏราชกุมาร โดยมอบหมายให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ดำเนินการจัดเตรียมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติตามที่แต่ละกระทรวงได้มีการวางแผนไว้แล้วอย่าสมพระเกียรติ โดยขอให้เน้นกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ที่จะช่วยดูแลประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสดังกล่าว
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่า วันนี้การแข่งขันการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การรับการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางว่าจะต้องดำเนินการในลักษณะของการเลือกกิจกรรมที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างแท้จริง โดยพิจารณาคัดเลือกกิจกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพ ตลอดจนพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นให้สามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนได้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการในเรื่องสิทธิพิเศษต้องสามารถปรับแก้ไขได้อย่างเหมาะสมและมีความน่าสนใจต่อนักลงทุนเพื่อจะได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันจะต้องพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิพิเศษที่ประเทศไทยจะให้กับนักลงทุนควบคู่กับสิทธิพิเศษของประเทศอื่นซึ่งนักลงทุนระบุว่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างไร เพื่อทำให้การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนเป็นไปอย่างเหมาะสมและไม่สร้างแรงกดดันจนทำให้ประเทศไทยต้องเอื้อประโยชน์หรือกำหนดสิทธิพิเศษให้มากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะมีสกู๊ปข่าวรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการรายงานข่าวดังกล่าวมีทั้งส่วนที่สบายใจแลไม่สบายใจ โดยในส่วนที่สบายใจคือได้มีการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของชาวประมงที่เป็นประมงพื้นบ้านในลักษณะเป็นประมงเล็ก ๆ ภายในครอบครัว ซึ่งปัญหาของชาวประมงดังกล่าวคือการที่จะต้องไปใช้กฎกติกาหลักเกณฑ์ข้อกฎหมายในกฎหมายเดียวกันกับประมงขนาดใหญ่ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตพื้นบ้าน เพราะประมงขนาดเล็กเป็นการทำกิจการเพื่อเลี้ยงเฉพาะภายในครอบครัว ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปดูรายละเอียดดังกล่าวเพื่อหาแนวทางในการที่จะดำเนินการให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้โดยไม่ขัดกับหลักการที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้
สำหรับในส่วนที่รู้สึกไม่สบายใจคือในปัญหาบางประเด็นที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ได้พยายามชี้แจงจนมีความชัดเจนแล้ว แต่บางครั้งการไปรายงานพิเศษแล้วมีคำถามจากสื่อมวลชนไปยังประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงและประชาชนดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาโดยที่ยังไม่ทราบหลักการและข้อเท็จจริงหรือแนวทางแก้ไขของรัฐบาลเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามดังกล่าวเป็นคำถามปลายเปิด เมื่อประชาชนชาวประมงแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกออกมาซึ่งไม่ตรงกับหลักการที่รัฐบาลได้แก้ไข หรือได้ดำเนินการไปแล้วนั้นก็ปล่อยความไม่เข้าใจเหล่านี้จางหายไปโดยไม่มีการนำเอาข้อมูลที่รัฐบาลได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนแล้วมาทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้ฝากขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการที่จะสร้างความเข้าใจกับประชาชนและสังคมให้ถูกต้อง โดยเฉพาะนอกจากคำถามปลายเปิดที่ถามไปยังประชาชนชาวประมงแล้วจะต้องมีการอธิบายความชี้แจงเพิ่มเติมประกอบด้วย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน หรือหากมีความเป็นไปได้ในกรณีไปทำสกู๊ปรายงานข่าวในลักษณะเช่นนี้ควรจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐไปด้วย เพื่อมีกรณีที่ประชาชนเกิดความไม่เข้าใจก็จะได้ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้อธิบายเพิ่มเพิ่มอีกทางหนึ่งก็จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องตามกระบวนการ
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำทุกกระทรวงแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า หากมีการติดต่อจากสื่อมวลชนในการที่จะลงไปรายงานพิเศษทั้งหลายดังกล่าวหากไม่ติดภารกิจขอให้ตอบรับ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอธิบายให้สังคมโดยรวมเข้าใจ และอธิบายให้ประชาชนหรือเกษตรกรที่ทำอาชีพเหล่านั้นเข้าใจด้วย ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าหากทุกคนร่วมมือกันสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯได้รับทราบรายงานจากกระทรวงมหาดไทยตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาหาแนวทางในการที่จะดำเนินการจัดตลาดขึ้นมาในลักษณะเช่นเดียวกับตลาดคลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ผู้ผลิตหรือเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตฐานรากได้มีโอกาสนำสินค้ามาจำหน่ายให้กับประชาชนโดยตรง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดการไหลเวียนของเม็ดเงิน และเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนชาวเกษตรกรได้มีตลาดในการค้าขายมากเพิ่มขึ้น ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้ไปดำเนินการวางแผนเรียบร้อยแล้วว่าจะมีการจัดตลาดขึ้นในพื้นที่ 4 มุมเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ พื้นที่ที่ 1 คือ พื้นที่เขตทวีวัฒนา ถนนอักษะ พื้นที่ที่ 2 คือ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ทุ่งครุ พื้นที่ที่ 3 คือ พื้นที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่บางนา และพื้นที่ที่ 4 คือ ไอทีสแควร์หลักสี่ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทย คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยตลาดจะเปิดจำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรในวันศุกร์-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. – 22.00 น.
ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารระบุว่ามีเกษตรกรส่วนหนึ่งได้นำที่ดินไปฝากหรือจำนองกับนายทุนและมีปัญหาไม่สามารถที่จะไถ่ถอนที่ดินคืนได้เพราะดอกเบี้ยสูง ประกอบกับไม่มีแหล่งเงินที่จะนำไปซื้อที่ดินกลับคืนมาและไม่มีปัจจัยในการผลิตเพราะไม่มีที่ดินทำให้ที่ดินต้องตกไปเป็นของนายทุนนั้น นายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อกรณีดังกล่าวได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจากที่กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบพบว่าเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับที่ดินลักษณะดังกล่าวนั้น เกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบสถาบันการเงินมีอยู่จำนวนประมาณ 149,000 กว่าราย คิดเป็นวงเงินมูลหนี้ประมาณ 21,000 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่มีหนี้สินอยู่ในระบบสถาบันการเงิน มีจำนวนประมาณ 140,000 ราย โดยมีวงเงินหนี้ประมาณ 360,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการแก้ไขหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงยุติธรรมซึ่งจะมีศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีกองทุนต่าง ๆ อาทิ กองทุนพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกร กระทรวงการคลัง จะมีคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน อย่างไรก็ตามในส่วนนี้พบว่าหนี้นอกระบบมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีกันประมาณ 90,000 ราย เป็นวงเงินมูลหนี้ประมาณ 13,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเร่งรัดประสานหารือเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรส่วนนี้โดยด่วน โดยเฉพาะกรณีหนี้นอกระบบที่อยู่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีประมาณ 90,000 ราย เป็นวงเงินมูลหนี้ประมาณ 13,000 ล้านบาท กระทรวงยุติธรรม จะต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ที่ดินต้องตกไปอยู่ในมือของนายทุนที่เป็นเจ้าหนี้ ขณะเดียวกันขอให้กองทุนต่าง ๆ พิจารณาความเหมาะสมว่าจะต้องให้ความช่วยเหลือในลักษณะอย่างไรที่จะนำหนี้เหล่านี้มาดำเนินการในลักษณะเหมือนการซื้อหนี้แล้วให้เกษตรกรมาผ่อนกับทางภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ส่วนจะดำเนินการได้หรือไม่ รวมถึงมีการติดขัดในข้อกฎหมายอย่างไร และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรนั้น ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการประสานกับส่วนต่าง ๆ ต่อไป โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม แล้วนำผลสรุปรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบโดยด่วน
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th