นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2/58

ข่าวทั่วไป Wednesday July 8, 2015 13:56 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กรอ. ครั้งที่ 2/58 เห็นชอบจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า-มอบ ทส. เป็นเจ้าภาพพิจารณาความเหมาะสมในการใช้ที่ดินเขตป่าสงวนเพื่อพัฒนาจุดผ่านแดนห้วยโก๋นและภูดู่เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการค้า โดยระยะแรกให้เร่งแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ที่ทำการด่านและถนนที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ถูกต้องก่อน พร้อมเห็นชอบยกเลิกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์

วันนี้ (8 ก.ค.58) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2/2558 ร่วมกับรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชน 6 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย รวม 6 เรื่อง ซึ่งภายหลังการประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุมร่วมกับภาคเอกชน 6 สถาบัน สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า (Technological Institute for Sustainability and Trade: TIST) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพิจารณาในรายละเอียด ทั้งในเรื่องรูปแบบขององค์กร หลักเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณและการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ความซ้ำซ้อนของภารกิจที่มีหน่วยงานดำเนินการอยู่แล้ว รวมทั้งขอบเขตภารกิจของสถาบันฯ ให้ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนในเชิงเทคนิคและผลิตภัณฑ์ โดยให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

2. การขอใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ (ที่เสื่อมโทรม) เพื่อพัฒนาด่านชายแดนให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน การบริการโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานสากล ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่งคงแห่งชาติ รับไปพิจารณาความเหมาะสมในการใช้ที่ดินเขตป่าสงวนเพื่อพัฒนาจุดผ่านแดนห้วยโก๋นและภูดู่ โดยให้คำนึงถึงขนาดความต้องการใช้พื้นที่ ความพร้อมของงบประมาณและบุคลากร ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศอย่างรอบด้าน โดยในระยะแรกให้เร่งแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ที่ทำการด่านและถนนที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ถูกต้องก่อน

3. การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตทั้งระบบของกระทรวงการคลัง ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

4. การพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญในประเทศไทย (Cruise Tourism) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณาปรับเพิ่มเติมในแผนพัฒนาท่าเรือของกระทรวงคมนาคม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญ โดยให้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

5. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานสู่แหล่งน้ำ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในแนวทางที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอในการบูรณาการการทำงานร่วมกันใน 4 ประเด็น เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ได้แก่ (1) การกำหนดมาตรฐานการระบายน้ำทิ้ง (2) การขออนุญาตระบายน้ำทิ้งของโรงงานออกสู่สิ่งแวดล้อม (3) การควบคุมดูแลการประกอบกิจการ และ (4) การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของกฎหมายควบคุมน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม

6. ข้อเสนอแนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศปมผ. เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing: IUU) ที่ประชุมมีมติให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) รับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณา และมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง โดยไม่ผิดระเบียบของ IUU และไม่กระทบกับการทำประมงพื้นบ้าน

นายอาคม กล่าวในตอนท้ายว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ของภาคเอกชนนั้น นายกรัฐมนตรีได้รับปากว่าจะทำให้สำเร็จ ซึ่งสิ่งที่นายกรัฐมนตรีขอคือขอให้ภาคเอกชนช่วยกันลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนนโยบายในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะตัวเครื่องยนต์ที่จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งคือภาคเอกชน ซึ่งวันนี้ในเรื่องของสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รัฐบาลได้เพิ่มเติมให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนซึ่งจะได้ประโยชน์สูงสุดเท่ากับเขตการส่งเสริมของบีโอไอที่อยู่ในพื้นที่ตอนในโดยเฉพาะจังหวัดยากจน ที่หากอยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดนก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และนายกรัฐมนตรีอยากจะเห็นการลงทุนจากภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรมเพื่อจะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กรอ.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ