รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่าที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในหลักสูตรอาชีวะ และพยายามพัฒนาหลักสูตรที่จะตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม จบแล้วสามารถมีงานทำได้ทันที รวมทั้งมีการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ด้วย แต่นายกรัฐมนตรีได้พบรายงานจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง (ช่อง 8 : https://www.youtube.com/watch?v=bZZ5XENBBNI) ที่มีการนำเสนอให้เห็นว่าการใช้ชีวิตของนักเรียนอาชีวะมีความลำบาก บางคนต้องแอบนำชุดสถาบันใส่ในกระเป๋าเป้ก่อนออกจากบ้านไปยังสถานศึกษา และขากลับต้องดูเส้นทางในการกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย
รัฐบาลพยายามพัฒนาหลักสูตรอาชีวะให้ดีขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการของสังคม จะปล่อยให้เด็กอาชีวะเดินทางมาเรียนโดยวิธีนี้ไม่ได้ จึงสั่งงานให้หน่วยงานความมั่นคงประสานงานกับ สอศ.และ สช. เพื่อดูแลแก้ไขเรื่องดังกล่าว เพื่อทำให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวะมีความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เป็นอาชีวะเหมือนกัน ไม่แยกสถานศึกษา มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต และสร้างความมั่นใจให้ผู้ประสงค์เข้าศึกษาต่อในสายอาชีวะต่อไปด้วย กระทรวงศึกษาธิการจึงมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สอศ. และ สช. ร่วมจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือและกำหนดแนวทางมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางดำเนินการที่ผ่านของกระทรวงศึกษาธิการด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งแนวทางมาตรการเพื่อให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือเพื่อร่วมมือและนำไปกำหนดเป็นมาตรการและแนวปฏิบัติอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ
โครงการทวิศึกษา ซึ่งเป็นโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น ในปีการศึกษา 2558 ซึ่งเมื่อจบการศึกษาภายใน 3 ปี จะได้รับ 2 วุฒิการศึกษา และ 2 ประสบการณ์ทั้งสายสามัญและวิชาชีพ อันจะส่งให้ผู้ที่จบหลักสูตรคู่ขนานแบบทวิศึกษานี้ สามารถไปประกอบอาชีพหรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ทั้งยังจะช่วยเพิ่มสัดส่วนจำนวนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญของประเทศจากปัจจุบัน 40:60 ให้เป็นไปตามเป้าหมายคือ 50:50 ในปี 2560
โครงการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา (Pre.Voc.Ed) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น โดยรุ่นแรกมีนักเรียนนักศึกษาอาชีวะจากจังหวัดสมุทรปราการเข้ารับการอบรม 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 79 คน ผลจากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงดำเนินการในรุ่นที่สองซึ่งมีสถานศึกษาเข้าร่วม 10 แห่ง นักเรียนนักศึกษา 482 คน อบรม ณ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และโรงเรียนชุมพลทหารเรือ ผลจากการฝึกอบรมในระยะเวลา 20 วันที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาทั้งด้านความรู้ ทักษะพื้นฐานวิชาชีพ ฝึกระเบียบวินัย พัฒนาจิตใจให้มีความเข้มแข็ง อดทนอดกลั้น และเกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะ เชื่อมั่นว่าหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวจะสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และทำให้ผู้ปกครองเกิดความภาคภูมิใจต่อบุตรหลานของตนเอง รวมทั้งจะมีส่วนแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของอาชีวะได้
กิจกรรมรักษาดินแดน (รด.) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ให้เด็กได้รู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น มีการปลูกฝังความรักสามัคคี ระเบียบวินัย คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องโควตาผู้เรียนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม รด. ซึ่งหากจะเพิ่มจำนวน ก็อาจต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
การจัดเวลาเข้าเรียนและเลิกเรียนสำหรับสถานศึกษาอาชีวะในพื้นที่ใกล้กันให้เหลื่อมเวลา ซึ่งอาจะมีผลช่วยแก้ไขปัญหาได้บ้าง และที่ผ่านมาผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะก็ยืนยันว่า ช่วงเวลาที่ไม่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะเป็นเวลานาน ส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในสถาบันนั้นๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20
ทวิภาคีกับสถานประกอบการ เพราะช่วยให้เด็กที่ฝึกงานหรือทำงานกับสถานประกอบการเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น หากสถานอาชีวศึกษาใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ก็ควรเร่งดำเนินการ
การให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวะได้มีกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ เช่น กีฬา ดนตรี กิจกรรมจิตอาสา ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่รวมกลุ่มเพื่อไปทะเลาะวิวาทกัน
การขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคง เช่นที่ จ.สมุทรปราการ ได้ดำเนินการจัดให้มีหน่วยเฉพาะกิจ (ปะ ฉะ ดะ) เพื่อเข้าไปช่วยดูแลเด็กเป็นการเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น หรือในจุดเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะมีการรวมกลุ่มทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลดีระดับหนึ่ง และหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ผู้เกี่ยวข้องควรเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเด็ดขาดโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบและให้สังคมเห็นความจริงจังของการบังคับใช้กฎหมาย ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดจะได้เกรงกลัวสิ่งที่จะได้รับจากการกระทำ
การจัดทีมไปเยี่ยมบ้านนักเรียนนักศึกษา โดยขอความร่วมมือจากทุกสถาบันให้ความร่วมมือจัดทีมไปพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้รู้ว่ายังมีความเอาใจใส่ต่อลูกหลาน และหากเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงก็จะให้รู้ว่ามีการเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหว รวมไปถึงรุ่นพี่ที่อาจเข้ามาชักจูงไปก่อเหตุได้
การใช้ทีมจิตวิทยาเข้าไปช่วยเหลือ โดยให้นักจิตวิทยาหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เข้าไปให้ความรู้โดยกระจายไปในแต่ละสถาบัน เพื่อชี้ให้นักเรียนนักศึกษาเห็นถึงปัญหาและผลร้ายที่เกิดจากการทะเลาะวิวาท
การปรับเปลี่ยนการแต่งกายของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะเพื่อลดการก่อเหตุทะเลาะวิวาท ได้แก่ การแต่งชุดไปรเวท ซึ่งจะไม่มีเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ของสถาบันปรากฏอยู่ และการแต่งเครื่องแบบให้เหมือนกันทุกสถาบัน ก็ต้องนำข้อเสนอทั้งสองข้อไปศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ หากพิจารณาแล้วว่าข้อเสนอดังกล่าวมีผลกระทบในเรื่องค่าใช้จ่ายก็อาจจะปรับใช้เฉพาะสถาบันที่มีปัญหาก่อน อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนการแต่งกายจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวะทุกคนดูกลมกลืนกัน ลดความเป็นตัวตนเพื่อลดปัญหาการแบ่งแยกสถาบัน
รมว.ศึกษาธิการ ย้ำในที่ประชุมว่า หลากหลายความคิดเห็นและมาตรการต่างๆ จากการประชุมครั้งนี้ จะมีผลสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวะมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตและเดินทางไปเรียน ซึ่งสถานศึกษาอาชีวะทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบและดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เหล่านี้ลดหรือหมดไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th