ทั้งนี้ โครงการเยาวชนเพื่อมิตรลุ่มน้ำโขง เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการเชื่อมโยงระดับประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยคัดเลือกเยาวชนระดับอุดมศึกษาจาก 5 ประเทศได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย
สำหรับสาระสำคัญ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุป ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับเยาวชนจากประเทศต่างๆในนามรัฐบาลไทย จำนวน 45 และแสดงความชื่นชมที่เยาวชนได้ทัศนศึกษาเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม และร่วมทำสาธารณะประโยชน์ทั้งในประเทศของตนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยกิจกรรมในปีนี้ มีหัวข้อหลัก คือ “การจัดการกับสิ่งท้าทายในภูมิภาค” (Addressing Regional Challenges) เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และตระหนักถึงประเด็นท้าทายในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า มีหลายประเด็นที่มีความสำคัญในขณะนี้ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลัทธิสุดโต่ง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ซึ่งการจัดการกับสิ่งท้าท้ายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในระดับผู้นำ สิ่งที่รัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกำลังดำเนินการ คือ การทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงของเราตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงคมนาคม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เยาวชนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางแนวเหนือ – ใต้ เส้นทางแนวตะวันตก และเส้นทางแนวตะวันออก – ตะวันตก ขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยและประเทศในอนุภูมิภาคต่างกำลังร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำมาซึ่งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อระหว่างประชาชน และยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชน
นอกจากการเชื่อมโยงทางกายภาพแล้ว รัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงระดับประชาชนผ่านการสื่อสารและการไปมาหาสู่กัน การทำกิจกรรมมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และการแลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างประชาชนในอนุภูมิภาคและภูมิภาค
โดยเยาวชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาในอนุภูมิภาค และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน การเข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ จะช่วยให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในภูมิภาค ทำให้เกิดความเข้าใจและการเปิดใจเรียนรู้และรับรู้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โครงการเยาวชนเพื่อนมิตรลุ่มน้ำโขงนับเป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้เชื่อมโยงเยาวชนในอนุภูมิภาคเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยกแนวทางการบริหารประเทศโดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงและการใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลักการนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีทราบว่า เยาวชนจะมีโอกาสนำเสนอสิ่งที่ตนเรียนรู้ตลอดการเข้าร่วมโครงการฯ และข้อเสนอแนะต่อการจัดการกับสิ่งท้าทายในภูมิภาค (Addressing Regional Challenges) ในวันปิดโครงการฯ ด้วย ซึ่งข้อคิดเห็นของเยาวชนและความรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของภูมิภาคเป็นสิ่งที่รัฐบาลสนใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากเยาวชนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญในอนาคต
ทั้งนี้ พวกเราทุกคนต่างมีหน้าที่ และมีอุดมการณ์เพื่อประเทศของตนเอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้เยาวชน นอกจากจะคิดทำประโยชน์เพื่อตัวเองแล้วต้องคิดเพื่อประเทศชาติของตัวเองด้วย นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ภูมิภาค และประชาชนโดยรวม ในขณะที่เยาวชนก็มีหน้าที่ในการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ และสร้างเสริมเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อเตรียมเป็นผู้ใหญ่ที่จะร่วมกันสานฝันให้เป็นจริงในอนาคต
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการที่ดีและหวังว่าจะดำเนินการสืบต่อไปในอนาคต พร้อมเปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาอนุภูมิภาค และเปิดโอกาสให้เยาวชนซักถาม
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำคณะเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขงเข้าเยี่ยมชมงาน "สุขภาพดี วิถีชุมชน" ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th