การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือ GISTDA จะทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างเส้นทางบิน และมีการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยการเดินอากาศที่มีประสิทธิภาพ เกิดความแม่นยำในการนำร่องและนำร่อนของอากาศยาน ส่งเสริมความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทางทางอากาศ โดยใช้จุดพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดจากเทคโนโลยีดาวเทียมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
นางสาริณี แสงประสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า บวท. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการและให้บริการการเดินอากาศในเขตน่านฟ้าไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ เพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปสู่ระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยขึ้น โดยจะปรับเปลี่ยนจากระบบเทคโนโลยีภาคพื้น ไปสู่ระบบเทคโนโลยีที่อาศัยอุปกรณ์สื่อสารดาวเทียม อีกทั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการระบบข้อมูลข่าวสารการบินให้ทันสมัย และเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ ความร่วมมือต่อจากนี้ บวท. จะนำข้อมูลสำคัญจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอันทันสมัยที่สุดในประเทศของ GISTDA มาประยุกต์ใช้ในกิจการคมนาคมทางอากาศของประเทศ เช่น การสำรวจพิกัดภูมิศาสตร์ในกิจการการบิน การสร้างแบบจำลองพื้นผิวภูมิประเทศ และการทำแผนที่การบิน ซึ่งการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และเชื่อมต่อระบบข้อมูลสารสนเทศการบิน ผ่านเครือข่ายสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ และตอบโจทย์ของประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศต่อไป
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ. กล่าวว่า GISTDA เป็นหน่วยงานเดียวในประเทศ ที่มุ่งเน้นการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานระบบสำรวจข้อมูลระยะไกล และระบบภูมิสารสนเทศที่เหมาะสมของประเทศ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ บวท. ในการช่วยวิเคราะห์และวิจัยด้านการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ และยังมีการนำข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านคมนาคมทางอากาศ ไปใช้ในการวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย ประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ ซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานยังมีการฝึกอบรมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับบุคลากรภายในหน่วยงาน เป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศชาติต่อไป
"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
ที่มา : บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th