1.ปัจจุบัน SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพจำนวนมากไม่สามารถขยายกิจการขึ้นมาเป็นขนาดกลางได้ เพราะขาดเงินทุน การพึ่งพาเงินกู้ก็มีหลักประกันไม่พอ และมีหนี้สินมากเกินไป การมีผู้เข้าร่วมลงทุนจะช่วยให้ SMEs เล็กๆ ที่มีศักยภาพ มีโอกาสเติบโตอย่างมั่นคงเต็มตามศักยภาพ และจาก ครม.มีมติเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 ให้จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง โดยกำหนดวงเงินรวมขนาดกองทุน 10,000 – 25,000 ล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์นับเป็นองค์กรแรกที่จะลงทุนใน Trust Fund กองทุนย่อยกองที่ 1 วงเงิน 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป้าหมายการเข้าลงทุนของ Trust Fund คือ การเข้าสนับสนุน SMEs ที่มีศักยภาพสูง มีนวัตกรรมในการสร้างและพัฒนาธุรกิจให้เติบโต โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่ม SMEs ระยะเริ่มต้น (Start up) ที่มีศักยภาพ หรือที่มีการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ 2. กลุ่ม SMEs ขนาดเล็ก ที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นเป็น SMEs ขนาดกลาง และ 3. กลุ่ม SMEs ขนาดกลางที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเติบโตและเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
2. การจัดตั้งโครงการร่วมลงทุน SMEs Private Equity Trust Fund มีความคืบหน้าไปมากแล้วดังนี้
2.1 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำหน้าที่วางนโยบายการลงทุนในลักษณะของ Steering Committee
2.2 มีการแต่งตั้ง Trustee คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ดูแลด้านธรรมาภิบาล การปฎิบัติตามเกณฑ์ กลต. และการบริหารความเสี่ยง
2.3 มีการแต่งตั้ง บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็ม.ที.อาร์. แอสเส็ท แมนเนเจอร์ จำกัด (MTR) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทรัสต์ (Trust Manager) กล่าวคือ เป็นผู้คัดคัดสรรกิจการ SMEs ที่ Trust Fund จะเข้าร่วมลงทุน และเมื่อลงทุนแล้ว จะเป็นพี่เลี้ยงดูแล SMEs รายนั้นต่อไป ซึ่งการมีพี่เลี้ยงดูแลใกล้ชิดถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของกิจการ SMEs ที่ Trust Fund ที่จะเข้าร่วมลงทุนด้วย
2.4 กองทุนย่อยที่ 1 ของเอสเอ็มอีแบงก์ มีกิจการ SMEs อยู่ในการพิจารณา 17 ราย และในจำนวนนี้ มีอยู่ 4 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อร่วมลงทุน คือ
1) บริษัท โคโค่ มาร์เวิล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมะพร้าวน้ำหอมออร์แกนนิคแช่แข็งบรรจุขวด ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
2) บริษัท ไอ เรียล พลัส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางค์ โดยรับจ้างผลิตแบบ OEM เพื่อส่งออกต่างประเทศ รวมทั้งแบรนด์ของตัวเองในนาม IReal ขายในประเทศ
3) บริษัท วันบิต แมทเทอร์ จำกัด ให้บริการและพัฒนาซอฟแวร์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคจากสื่อสังคมออนไลน์
4) บริษัท ไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ผลิตและจำหน่ายของหวานแช่แข็งให้กับร้านอาหารและภัตตาคาร และยังเป็น OEM ให้กับกลุ่ม CP
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญ คือ Trust Fund จะไม่ครอบงำกิจการ ส่วน SMEs ต้องมีการดำเนินงานที่โปร่งใส และเสียภาษีถูกต้อง
นอกจากนี้ บทบาทอีกประการหนึ่งของเอสเอ็มอีแบงก์ ยังทำหน้าที่เป็น Business Match Maker ในการจับคู่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย กับผู้ลงทุนภาคเอกชน เช่น กรณีบริษัท เทารา อินโนวิชั่นจำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องตรวจวัดน้ำตาลจากลมหายใจที่ได้รับสิทธิบัตรจาก สวทช. กับ บริษัท เอ็ม.ที.อาร์. แอสเส็ท แมนเนเจอร์ จำกัด เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม
โทร. 0 265 4564-5
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th