บอร์ด BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 17 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท ชิ้นส่วนยานยนต์ – โรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2015 17:12 —สำนักโฆษก

บอร์ด BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 17 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท ชิ้นส่วนยานยนต์ – โรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก พร้อมเห็นชอบให้ผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับเอสเอ็มอีที่จะลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีเงินลงทุน 5 แสนบาทก็สามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนได้

วันนี้ (10ก.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครั้งที่ 4/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เข้าร่วมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมบีโอไอได้มีการพิจารณาเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเดิมกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ให้เปลี่ยนเป็นมีเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท มาใช้ในโครงการได้

สำหรับการลงทุนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอยู่ในนโยบายพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ที่ประชุมจึงพิจารณาเห็นชอบให้โครงการที่ลงทุนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย) ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขของกิจการที่จะลงทุนให้เหมือนกับกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในทุกพื้นที่ จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะโครงการที่ลงทุนในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในแต่ละพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษว่ามีกลุ่มอุตสาหกรรม หรือประเภทกิจการใดบ้างที่สามารถที่จะเกิดขึ้นและดำเนินการได้โดยเร็วภายในปี 2558-2559 นี้ ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รับที่จะไปดำเนินการและประสานงานกับภาคเอกชนในการที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนได้อย่างแท้จริงในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการจำนวน 17 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 43,917.7 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบอลูมิเนียม สังกะสีและเหล็กแผ่นเคลือบสี เงินลงทุน 3,279.2 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง ทั้งนี้ บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตรายเดียวในประเทศไทยที่สามารถใช้เทคโนโลยีการชุบเคลือบอลูมิเนียม สังกะสี และเคลือบสีในสายการผลิตที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงานลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของโครงการจะช่วยลดการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบจากต่างประเทศด้วย

2.บริษัท เอสอีไอ ไทย อิเล็คทริค คอนดักเตอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กลวดอลูมิเนียมสำหรับผลิตสายไฟฟ้าและสายส่งสัญญาณของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ เงินลงทุน 1,324 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้ถือเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศ และมีแผนส่งพนักงานไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น

3.บริษัท อาโอยาม่าไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตสลักภัณฑ์ เช่น สลักเกลียว แป้นเกลียว สำหรับใช้เป็นชิ้นส่วนยานพาหนะ มูลค่าเงินลงทุน 2,193 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้จะช่วยลดการนำเข้าสลักภัณฑ์สำหรับยานพาหนะจากต่างประเทศ และมีแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่นแก่พนักงานคนไทย รวมทั้งมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทยในการให้ทุนการศึกษาและรับนักศึกษามาฝึกงานเพื่อพัฒนาฝีมือและทักษะวิชาชีพล

4.บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตตัวกระป๋องอลูมิเนียม เงินลงทุน 1,410 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสระบุรี โดยโครงการนี้ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มและบรรจุภัณฑ์ของประเทศ

โครงการที่ 5 – 7 บริษัท ไดเซล เซฟตี้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ได้แก่ อุปกรณ์กำเนิดก๊าซสำหรับถุงลมนิรภัย จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 2944.2 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดปราจีนบุรีทั้ง 3 โครงการ โดยถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนด้านความปลอดภัยในรถยนต์

8.บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยางยานพาหนะ เงินลงทุน 6,555.8 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดนครปฐม โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบยางในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศ โดยมีมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศถึงปีละ กว่า 2,300 ล้านบาท

9.บริษัท มิลลิเมด จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยาแผนปัจจุบัน เงินลงทุน 1,436.4 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดเชียงราย โครงการนี้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนปัจจุบันของไทยให้ได้มาตรฐานการผลิตยาสากลตามข้อกำหนด GMP และการตรวจประเมินยาแห่งสหภาพยุโรป PIC/S

10. บริษัท เอสอาร์เอฟ อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตฟิล์มพลาสติก และฟิล์มพลาสติกเคลือบโลหะ เงินลงทุน 2,429 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โครงการนี้มีการใช้วัตถุดิบในประเทศไทยมูลค่าปีละกว่า 1,400 ล้านบาท และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

11. นายสมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดมหาสารคาม โครงการนี้เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการพิมพ์ให้ใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้นและช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้จากการป้อนวัตถุดิบทางการเกษตรให้โครงการ

12.บริษัท สยามเซลลูโลส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก เงินลงทุน 1,408.2 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยโครงการนี้มีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์

13.บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และไอน้ำ เงินลงทุน 910 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสิงห์บุรี โครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวล สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ. 2555 – 2564)

14.บริษัทอู่ทองกรีนพาวเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เงินลงทุน 1,665.8 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวล สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ. 2555 – 2564)

15.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เงินลงทุน 8,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดพิษณุโลก โครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ. 2555 – 2564)

16. MR. ROGER RENSCH REYNOLDS ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการสวนสนุก เงินลงทุน 1,440 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดภูเก็ต โดยจะเป็นสวนสนุกประเภทสวนน้ำผสมผสานกับอุทยานสัตว์น้ำ และจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แก่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศด้วย

17.บริษัท เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท 4 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขตอุตสาหกรรม เงินลงทุน 2,922.1 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โครงการนี้เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และทำให้ภาคตะวันออกของไทยมีความสามารถในการแข่งขันดึงดูดการลงทุนกับประเทศอื่นๆ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ