นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยถึงสาเหตุการทรุดตัวของถนนคันคลอง ว่า ถนนคันคลองทรงตัวอยู่ได้เนื่องจากแรงต้านของดินคันคลอง (P1) และแรงดันของน้ำในคลอง ชลประทาน (P2) ช่วยกันรับน้ำหนักคันทาง (W) ดังภาพที่ 1 แต่เมื่อเกิดภัยแล้งน้ำแห้งแรงดันของน้ (P2) ที่เคยพยุงถนนคันคลองหายไป ทำให้บางจุดมีแรงต้านของดิน (P1) ไม่เพียงพอ เกิดการทรุดตัวของถนน ดังภาพที่ 2 ตามที่ปรากฏในภาพข่าวในช่วงนี้ ถนนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงดังกล่าว มีทั้งถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
จากการสำรวจถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พบว่า มีถนนทรุดตัว รวมประมาณ 5.2 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 0.20 ของความยาวทั้งหมด เบื้องต้น ทช. ได้ติดตั้งป้ายเตือน กรวย แบริเออร์คอนกรีต พร้อมติดไฟกระพริบ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และเร่งดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงผิวจราจร เพื่อให้สัญจรได้เป็นการชั่วคราว ภายใน 7 - 10 วัน โดยทำการขุดลอกถนน ส่วนที่เสียหายออก 2-3 เมตร เพื่อลดน้ำหนักกดทับที่อาจทำให้ถนนทรุดตัวเพิ่มขึ้นได้ จากนั้น จะเร่งคืนผิวจราจร เป็นการถาวร โดยการเจาะสำรวจดิน เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ออกแบบให้ถนนมีความมั่นคงแข็งแรงถาวร เช่น การใช้เสาเข็มเป็นการถ่ายน้ำหนักลงสู่ชั้นดินแข็งหรือใช้วิธีอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สำหรับแนวทางการป้องกันถนนที่ยังไม่เกิดการทรุดตัว มีดังนี้
1. ออกประกาศลดน้ำหนักรถบรรทุก 10 ล้อ ที่วิ่งผ่านคันคลองชลประทานจากเดิม 25 ตัน เหลือ 18 ตัน
2. เร่งเจาะสำรวจดินของถนนที่อยู่ในความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นทุกสาย เพื่อออกแบบ ปรับปรุงป้องกันการเคลื่อนตัวของคันทาง
3. ทำแผนปรับปรุงถนนต่างๆ เหล่านี้ โดยจัดลำดับความเร่งด่วนตามความเสี่ยง พร้อมขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล
4. บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมชลประทาน อำเภอ จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้มีการบริหารจัดการเรื่องการขุดลอกคลองและการรักษาระดับน้ำในคลอง เพื่อรักษาเสถียรภาพของคันทาง
ทั้งนี้ ทช. ขอความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณถนนริมคันคลองชลประทาน ช่วยกันสอดส่องดูแลถนน หากพบไหล่ทางมีการแตกร้าว มีความเสี่ยงที่ถนนอาจจะทรุดตัว ขอให้แจ้งสายด่วน กรมทางหลวงชนบท 1146 เพื่อ ทช. เข้าดำเนินการสำรวจและซ่อมแซมต่อไป ประชาชนที่สัญจร ผ่านถนนทรุดตัว ขอให้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และโปรดสังเกตป้ายเตือนต่าง ๆ เพื่อความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง
"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
ที่มา : กรมทางหลวงชนบท
ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th