รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) ถือเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนสู่มาตรฐานสากล เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประเมินศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคลที่เชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับการเทียบโอนประสบการณ์ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือระหว่างการศึกษาในระดับต่างๆ รวมทั้งการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้คนไทยที่อยู่ในวัยแรงงานมีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โดยขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาระบบทดสอบวัดประเมินผล และการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถให้แก่สถาบันการศึกษา
นอกจากนี้ สกศ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (Task Force on ASEAN Qualifications Reference Framework : TF-AQRF) ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ และแต่งตั้งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่จะนำไปสู่การจัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ที่มีการเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิของประเทศสมาชิกหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง โดยวิธีการเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิที่เป็นแกนกลาง เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนรองรับการเคลื่อนย้ายบุคลากรในการเป็นประชาคมอาเซียน
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบ แนวทางการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2558-2562 ดังนี้
ปี 2558 ได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 (และมีการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรก) รวมทั้งยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้จะมีการจัดทำแนวทางการเทียบเคียง/เชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และเลือกระดับการศึกษา/สาขาอาชีพ (sector) ต้นแบบเทียบเคียงตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติใน 3 สาขาอาชีพ คือ ยานยนต์ ปิโตรเคมี และท่องเที่ยว จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานที่ปรึกษา Sector ต้นแบบ เพื่อกำหนดเกณฑ์การเทียบเคียงตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และคาดว่าภายในเดือนตุลาคม 2558 จะมีการประกาศแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศสมาชิกด้วย
ปี 2559 จะดำเนินการเทียบเคียงตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติใน 3 Sector ต้นแบบ และในส่วนของประเทศไทยก็จะเริ่มนำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนมาเป็นแนวทางในการเคลื่อนย้ายบุคลากรกับประเทศสมาชิกในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการเทียบเคียงเรียบร้อยแล้ว
ปี 2560 จะมีการกำหนดเกณฑ์การรับรองหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พร้อมทั้งเลือก Sector ต้นแบบเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามหลักการของกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ตลอดจนดำเนินการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านตามหลักการของกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนใน Sector ต้นแบบ
ปี 2561 ส่งเสริมให้มีการปรับหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน
ปี 2562 ติดตามประเมินผลและพัฒนา
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
10/7/2558
ขอบคุณ : ภาพถ่าย โดย สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สกศ.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th