ก.อุตฯ ปรับแก้กฎกองทุนเหมืองประกันความเสี่ยงฯ เน้นรวดเร็วช่วยแก้ไขปัญหานำร่องช่วยชาวบ้านเหมืองทองคำ ดันสร้างประปาโอโซนแก้ภัยแล้งดึงชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ข่าวทั่วไป Monday July 13, 2015 17:13 —สำนักโฆษก

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีประชาชนร้องเรียน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน ภายหลังการลงพื้นที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ได้รับรายงานจากอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตรถึงผลการประชุมของคณะกรรมการ 5 ฝ่ายฯ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และตัวแทนของบริษัทฯ มีข้อสรุปด้านการดูแลสุขภาพ เบื้องต้นทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนการลงพื้นที่เพื่อตรวจรักษาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะมีการลงพื้นที่อีกครั้งวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ นอกจากการตรวจติดตามด้านสุขภาพในระยะสั้นแล้ว ยังกำหนดแผนการป้องกัน และเฝ้าระวังในระยะยาวต่อไป ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งแก้ไขระเบียบการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น

“ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนประกันความเสี่ยงฯ จะอิงกับระบบของทางราชการ ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมาที่อาจมีหลายขั้นตอน และทำให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ล่าช้าไปบ้าง จากนี้ไปจะลดขั้นตอน และระยะเวลาลง โดยให้นำความเดือดร้อนต่างๆ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบกรณีเหมืองแร่ทองคำจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ 5 ฝ่ายฯ เพื่อมีมติที่ประชุมออกมา แล้วจะเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด โดยแนบเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วน เพื่อนำไปเบิกเงินจากกองทุนประกันความเสี่ยงฯ ซึ่งมีอธิบดี กพร.เป็นประธาน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแนวคิดในการจัดทำประปาโอโซน ในพื้นที่หมู่ที่ 3,หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 ของตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร โดยให้เป็นโครงการนำร่อง จำนวน 1 จุด ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการให้บริษัท อัคราฯ ไปศึกษา และหาวิธีดำเนินการ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จะเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านรอบบริเวณพื้นที่ทำเหมือง เป็นการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคซึ่งมีไม่เพียงพอ นอกจากการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าวแล้ว กระทรวงฯ ต้องการให้บริษัทฯ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และทำโครงการ CSR ในพื้นที่เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ต่อการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทฯ ให้มากขึ้น” ปลัดอรรชกา กล่าว

ด้านนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดี กพร. ในฐานะประธานกองทุนประกันความเสี่ยงฯ กล่าวว่า ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในเบื้องต้นไปแล้ว จำนวน 4.7 ล้านบาท ให้กับจังหวัดพิจิตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพประชาชนที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบกรณีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในร่างกาย และการจัดซื้อถังน้ำเป็นภาชนะรองรับน้ำ ซึ่งจังหวัดจะดำเนินการแจกจ่ายต่อไป ในขณะเดียวกัน ได้มีการติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการของบริษัท อัคราฯ โดยมีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปีละ 4 ครั้ง เพื่อกำกับดูแลตามมาตรการ EHIA อย่างเคร่งครัด โดยให้ตัวแทนภาคประชาชนที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสนอชื่อเข้าร่วมตรวจสอบพร้อมกับเจ้าหน้าที่ด้วย

สำหรับระเบียบการใช้จ่ายเงินกองทุนดังกล่าวที่เกิดขึ้นเนื่องจาก กพร. ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตประทานบัตรว่า บริษัทฯ ต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งนำเข้าเงินกองทุนดังกล่าว ปีละ 10 ล้านบาท เป็นเวลา 15 ปี เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ้นสุดโครงการทำเหมือง จะมีมาตรการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการทำเหมืองไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ประมาณ 5-10 ปี ในกรณีที่ไม่มีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น เงินกองทุนดังกล่าว จะถูกส่งมอบคืนไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ตั้งโครงการทำเหมือง เพื่อให้นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขอนามัย การศึกษา และดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ