ศ.นพ.รัชตะให้สัมภาษณ์ว่า การหารือในครั้งนี้ สนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพด้านสุขภาพ และแพทย์แผนไทย ให้เป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของภูมิภาค กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ดำเนินงานหลายด้านเสริมกัน โดยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ พร้อมเชิญภาคเอกชนร่วมวางแผนระยะสั้น กลาง และยาว พัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว อาทิ ความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรคติดต่อ การสร้างหลัก
ประกันสุขภาพแก่นักท่องเที่ยวกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ เช่น การขยายวีซ่าแก่ผู้เดินทางมารักษาพยาบาล โดยที่ผ่านมาดำเนินการในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับตะวันออกกลาง 6 ประเทศ ได้แก่ คูเวต บาเรนห์ โอมาน การ์ตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และอาหรับเอมิเรสต์ ขยายจาก 30 วันเป็น 90 วัน อนุญาตผู้ป่วยและญาติรวม 4 คน กระทรวงสาธารณสุขจะหารือกับกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายเวลาแก่ประเทศอื่นที่ต้องการเข้ามารักษาในประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้ความสนใจเรื่องการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดยจะตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเช่นกัน
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กล่าวว่า การรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นจุดขายอันดับหนึ่งของประเทศ จึงต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นคุณภาพเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันกับหน่วยงานเอกชน โดยต้องไม่ลืมมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น อาหาร ห้องน้ำ ตลาดสด เบื้องต้นเน้น 12 เมืองที่ห้ามพลาด นอกจากนี้ควรมุ่งพัฒนาสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาชาวบ้านให้เป็นจุดขายด้วย
13 กรกฎาคม 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th