กรมสรรพสามิตประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาชาวประมงในเขตต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Monday July 13, 2015 16:17 —สำนักโฆษก

กรมสรรพสามิตร่วมกับหน่วยงานภาคีในการกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับ ชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ประสานความร่วมมือเพื่อหาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาว ประมง ตลอดจนร่วมดำเนินการป้องกันและลักลอบนำเข้าน้ำมันทางทะเล

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 อนุมัติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร โดยกรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน เพื่อให้การกำกับดูแลตามโครงการจำหน่ายน้ำมันเขียวให้เกิดความรัดกุมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันและปราบปรามการรั่วไหลมิให้เป็นน้ำมันเถื่อน ประกอบด้วย 11 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสรรพสามิต สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองกำกับการตำรวจน้ำ กองทัพเรือ และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เพื่อประสานงานกับหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อาจมีขึ้นจากการดำเนินโครงการ ประเมินผลโครงการ และรายงานผลของโครงการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติทราบ

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวต่อว่า กรมสรรพสามิตมีหน้าที่ในการจัดเก็บเงินค่าภาษีสรรพสามิต เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีการผลิตและใช้ในประเทศตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด รวมถึงการขอยกเว้นและขอคืนภาษีสรรพสามิตของน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีการนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่เข้าข่ายยกเว้นการเสียภาษี ได้แก่ การส่งออกนอกราชอาณาจักร การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม การใช้เติมเรือที่เดินทางไปต่างประเทศและน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายให้กับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (น้ำมันเขียว) ตลอดจนรับผิดชอบด้านการควบคุม การผลิตและการจำหน่ายรวมทั้งติดตามเส้นทางการขนย้ายของน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยการกำหนดระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและกำกับดูแลเพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลของน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันออกนอกระบบภาษี ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการตามโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 - มีนาคม 2558) พบว่า มีปริมาณที่ตรวจปล่อย จำนวนทั้งสิ้น 379.30 ล้านลิตร และขอใบอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 141 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544-2558 พบว่า มีปริมาณที่ตรวจปล่อย จำนวนทั้งสิ้น 10,660 ล้านลิตร และขอใบอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 5,647 ราย

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 (ตุลาคม 2557-พฤษภาคม 2558) กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากร สามารถปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม จำนวนทั้งสิ้น 3,125 คดี คิดเป็นปริมาณน้ำมัน รวมจำนวน 12.63 ล้านลิตร แยกเป็น ดีเซล จำนวน 8.95 ล้านลิตร เบนซิน จำนวน 2.10 ล้านลิตร น้ำมันเตา จำนวน 564,100 ลิตร สารโซลเว้นท์ จำนวน 63,240 ล้านลิตร น้ำมันเครื่องใช้แล้ว จำนวน 165,750 ล้านลิตร น้ำมันเครื่อง จำนวน 150,110 ล้านลิตร และก๊าซแอลพีจี จำนวน 638.75 ตัน

สำหรับผลการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 (ตุลาคม 2557 - พฤษภาคม 2558) พบว่ามีการกระทำผิดจำนวนคดีทั้งสิ้น 1,852 คดี ปริมาณน้ำมัน รวมจำนวน 1.66 ล้านลิตร แยกเป็น ดีเซล จำนวน 552.62 ล้านลิตร เบนซิน จำนวน 585,810 ล้านลิตร น้ำมันเตา จำนวน 454,100 ล้านลิตร และสารโซลเว้นท์ จำนวน 63,240 ล้านลิตร

          อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 (ตุลาคม 2557 - มิถุนายน 2558) กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเป็นเงิน 92,103.71 ล้านบาท         สูงกว่าประมาณการ 43,056.34 บาท คิดเป็นร้อยละ 87.79

นายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 2 สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีและอากรขาเข้าของน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้าพิธีศุลกากร ว่าด้วยการนำเข้า-ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปราบปรามของกระทรวงการคลังที่รับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องด้วย เพราะการยกเว้นภาษีต่างๆ เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายศุลกากร ว่าด้วยการส่งออกน้ำมัน ซึ่งการลักลอบแบ่งออกเป็นทางบกและทางทะเล โดยทางบกจะมีลักษณะเป็นกองทัพมดตามชายแดนปาดังเบซาร์ สะเดา วังประจัน สุไหงโก-ลก และตากใบ สถานการณ์โดยทั่วไปลดลงจนมีจำนวนน้อยลงมาก ส่วนทางทะเล มีการลักลอบนำขึ้นบกเป็นขบวนการใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว โดยเป็นรายเล็กที่ขายกลางทะเลในเขต 12 -24 ไมล์ทะเล บริเวณน่านน้ำจังหวัดสตูล สำหรับการลักลอบนำน้ำมันเขียวขึ้นบก ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่มีแอบขายต่อจากเรือที่มีสิทธิ์เติมไปให้เรือประมงชายฝั่งบ้างจำนวนไม่มาก

กรมศุลกากรสามารถจับกุมผู้กระทำการลักลอบน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2558 แยกเป็นลักลอบนำเข้า และลักลอบส่งออก สำหรับการลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันดีเซล มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 2,541 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมัน จำนวนทั้งสิ้น 4,318,206 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 108,898,692 บาท และ การลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันเบนซิน มีจำนวนทั้งสิ้น คดี 2,688 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมัน จำนวนทั้งสิ้น 2,190,207 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 69,220,784 บาท สำหรับการลักลอบส่งออกประเภทน้ำมันดีเซล มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 22 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 7,451 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 198,222 บาท และการลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันเบนซิน มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 4 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 2,720 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 90,490 บาท

ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 2 กล่าวต่อว่าผลการดำเนินงานสามารถจับกุมผู้กระทำการลักลอบน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2558 โดยหน่วยงานภายนอก มีดังนี้ ลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันดีเซล มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 279 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 386,457 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 8,797,249 บาท และการลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันเบนซิน มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 812 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 482,001 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 14,031,268 บาท สำหรับการลักลอบส่งออกประเภทน้ำมันดีเซล มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 6 ราย คิดเป็นปริมาณน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 1,312 ลิตร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงิน 37,128 บาท และการลักลอบนำเข้าประเภทน้ำมันเบนซินพบว่าไม่มีคดี

สำหรับสถิติการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (น้ำมันเขียว) ตั้งแต่ปี 2556 –พฤษภาคม 2558 พบว่า มีจำนวนใบขนรวมทั้งสิ้น 701 ฉบับ ปริมาณรวม ทั้งสิ้น 1,852,428,462 ลิตร คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 39,594,705,065 บาท

พันตำรวจเอกโชคชัย นนท์ปฏิมากุล รองผู้บังคับการตำรวจน้ำ กล่าวว่า งานปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง หลบหนีภาษี หรือลักษณะในการฉ้อฉลภาษีของรัฐทางทะเล ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงจาก เรือ Bunker ที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ลักลอบนำกลับเข้ามาจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เรือประมงชายฝั่ง น้ำมันเชื้อเพลิงจากเรือขนส่งอุปกรณ์ (Supplier) ที่ส่งกำลังบำรุง ไปยังฐานขุดเจาะก๊าซกลางทะเลอ่าวไทย โดยกัปตันเรือลูกเรือขโมยจากถังใช้การเรือออกจำหน่าย อีกทั้งดำเนินการทั้งการปฏิบัติการ และประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มกองทัพมดที่ลักลอบขนน้ำมันเชื้อเพลิงบริเวณเขตชายแดนไทย – มาเลเซีย ได้ลดบทบาท และเปลี่ยนทัศนคติ นอกจากนี้ยังกำกับดูแล ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงในโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (โครงการน้ำมันเขียว) ตรวจสอบการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงตามด่านชายแดน ทั้งการส่งออกในระบบ Free Zone และระบบสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ตลอดจนเฝ้าระวังการนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ลักลอบส่งออก

สำหรับการดำเนินการเป็นควบคุมการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในโครงการฯ (น้ำมันเขียว) ให้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎระเบียบและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ป้องกันปราบปราม สืบสวนหาข่าวการลักลอบนำเข้า – ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยฉ้อฉลภาษีของรัฐทางทะเล ควบคุมการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากโรงกลั่นคลังน้ำมัน ที่แจ้งส่งออกทางทะเล ตรวจสอบ จับกุมกลุ่มเรือดัดแปลง เรือซอย ที่นำน้ำมันจากกลุ่มเรือ Bunker หรือจากเรือ Supplier นำกลับเข้ามาจำหน่ายในเขตน่านน้ำ หรือนำขึ้นฝั่ง ตรวจปล่อยเรือบรรทุกน้ำมันในโครงการฯ (น้ำมันเขียว) ที่แจ้งรับน้ำมันจากโรงกลั่น คลังน้ำมัน เพื่อขนส่งไปยังเขตต่อเนื่อง ตลอดจนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในการลักลอบขนถ่ายน้ำมันขึ้นฝั่ง ตลอดแนวชายฝั่ง

รองผู้บังคับการตำรวจน้ำ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถจับกุมผู้กระทำผิด รวมทั้งสิ้น 80 คดี ผู้ต้องหา 96 คน ของกลาง น้ำมันเชื้อเพลิง รวมปริมาณ 865,280 ลิตร น้ำมันดีเซล จำนวน 486,600 ลิตร น้ำมันเบนซิน จำนวน 11,080 ลิตร น้ำมันเตา จำนวน 360,600 ลิตร หล่อลื่น (น้ำมันเครื่องใช้แล้ว) จำนวน 7,000 ลิตร มูลค่าของกลางรวมเป็นเงิน 46,706,362.10 บาท เปรียบเทียบปรับรวมเป็นเงิน 2,350,233.15 บาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ( ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 – 30 มิถุนายน 2558) สามารถจับกุมคดี รวม 50 คดี ผู้ต้องหา 70 คน ของกลาง น้ำมันเชื้อเพลิง รวมปริมาณ 551,450 ลิตร แยกเป็น น้ำมันดีเซล จำนวน 296,695 ลิตร น้ำมันเบนซิน จำนวน 2,155 ลิตร น้ำมันเตา จำนวน 202,600 ลิตร หล่อลื่น (น้ำมันเครื่องใช้แล้ว) จำนวน 50,000 ลิตร มูลค่าของกลางรวมเป็นเงิน 54,462,233.80 บาท เปรียบเทียบปรับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,267,798.64 บาท

นาวาเอกพิเศษอะดุง พันธุ์เอี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และกองทัพเรือต่อโครงการน้ำมันเขียวและปัญหาน้ำมันเถื่อนในทะเล คือการจัดกำลังทางเรือดูแลความสงบเรียบร้อยและรักษากฎหมายในทะเลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่บนบกในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการจัดเรือใน ศรชล. เขต ๑-๓ ลาดตระเวนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เมื่อพบพฤติกรรมผิดปกติหรือเรือต้องสงสัยทุกลำใน ๑๒ ไมล์ทะเล หรือเฉพาะเรือไทยนอก ๑๒ ไมล์ออกไป จึงขอขึ้นตรวจค้น และหากพบการกระทำผิดกฎหมายก็จะจับกุมส่งดำเนินคดีต่อไป เช่น หากมีการขนถ่ายน้ำมันในทะเลระหว่างเรือก็จะตรวจสอบว่าเป็นน้ำมันเถื่อนหรือไม่มีใบอนุญาตเรือถูกต้องหรือไม่ และทำการขายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นต้น ตลอดจนทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล กล่าวคือ เมื่อมีการข่าวหรือการประสานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบว่ามีการกระทำผิดทั้งเรื่องน้ำมันเถื่อนหรือกระทำผิดเงื่อนไขการขายน้ำมันเขียวในทะเล ก็จะส่งเรือพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมในทะเลแล้วส่งดำเนินคดี บนบกในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ในการปฏิบัติดังกล่าวมีเพียงกองทัพเรือหน่วยเดียวเท่านั้นที่จะปฏิบัติการเช่นนี้ในทะเลได้ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายทะเลและหลักสากล

นางศิรินา อินแก้ว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวถึงผลการดำเนินงานโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงฯ เดือนมกราคม – มีนาคม 2558 ว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีจำนวน 5 ราย (ผู้ค้าน้ำมัน 3 ราย และโรงกลั่น จำนวน 2 ราย) เรือบรรทุกน้ำมันและเรือสถานีบริการน้ำมัน (Tanker) มีจำนวน 16 ลำ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557) เรือประมงที่จดทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,453 ลำ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557) สมาคมประมงท้องถิ่นที่เสนอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 37 สมาคม (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557) สำหรับปริมาณน้ำมันดีเซลที่นำไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่อง (มกราคม – มีนาคม 2558) มีปริมาณของการตรวจปล่อยน้ำมันเขียว จำนวน 75.97, 50.62 และ 71.50 ล้านลิตร ซึ่งน้ำมันดังกล่าวนำไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่อง โดยจำหน่ายเฉพาะในฝั่งอ่าวไทย บางส่วนถูกนำไปจำหน่ายในฝั่งอันดามัน

สำหรับปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ ตามรายงานของกรมธุรกิจพลังงาน เดือนมกราคม – มีนาคม 2558 ดังนี้ โรงกลั่นมีการจำหน่ายน้ำมันเขียวให้กับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ในเดือนมกราคม – มีนาคม 2558 รวมปริมาณทั้งสิ้น 208.49 ล้านลิตร โดยจำแนกเป็น 1) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในเดือนมกราคม – มีนาคม 2558มีปริมาณรวม 181.22 ล้านลิตร จำหน่ายให้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด รวมปริมาณทั้งสิ้น 129.31 ล้านลิตร จำหน่ายให้บริษัท ปตท.จำกัด มหาชน ปริมาณ 51.92 ล้านลิตร และ 2) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด มีปริมาณการจำหน่ายรวม 27.26 ล้านลิตร จำหน่ายให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชนปริมาณ 16.97 ล้านลิตร บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ปริมาณ 10.30 ล้านลิตร โดยสรุปผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จำหน่ายน้ำมันเขียวให้โครงการฯจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท น้ำมันไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปริมาณน้ำมันดังกล่าวถูกจำหน่ายให้ผู้ค้าน้ำมันในเขตต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นผู้รับน้ำมันนำไปจำหน่ายให้ชาวประมง) มีจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ค้าน้ำมันประมง จำกัด บริษัท ค้าน้ำมันประมงไทยแหลมทอง จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.ยู.ออยล์ ในเดือนมกราคม – เมษายน 2558 รวมจำนวนทั้งสิ้น 644.85 ล้านลิตร

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กล่าวต่อว่า ราคาน้ำมันที่จำหน่ายในเขตต่อเนื่องได้รับการรายงานการจากกองบังคับการตำรวจน้ำและสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันดีเซลบนฝั่ง ราคาน้ำมันในอ่าวไทยจะต่ำกว่าราคาบนฝั่งระหว่าง 11.15 - 11.90 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันในฝั่งอันดามันต่ำกว่าราคาบนฝั่งระหว่าง 7.71 - 9.73 บาท/ลิตร (มกราคม – มีนาคม 2558 ราคาดีเซลบนฝั่งเฉลี่ย 25.83, 26.22 และ 26.76 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันในอ่าวไทยเฉลี่ย 13.93, 15.20 และ 15.61 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันในฝั่งอันดามันเฉลี่ย 18.12, 15.98 และ 17.03 บาท/ลิตร ) และผลต่างราคาน้ำมันในอ่าวไทยกับฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 1.42 - 4.19 บาท/ลิตร

นายพิเชษฐ สุดเดือน ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเกาะสมุย กล่าวว่า กรมเจ้าท่าซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจตราและควบคุมการเดินเรือ การจราจรทางน้ำ การขนส่งทางน้ำ รวมทั้งการอำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำ ตรวจตราและควบคุมการขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดิน ตรวจพิจารณาการขออนุญาตจอดเรือ เพื่อขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หรือสิ่งของที่ทำให้เกิดอันตราย ตรวจพิจารณาการขออนุญาตใช้เรือทำการบรรทุกและลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสิ่งของที่ทำให้เกิดอันตราย ตลอดจนรับจดทะเบียนเรือกลและเรือที่มิใช่เรือกล ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจตราและปราบปราม ตลอดจนทำการพิจารณาสอบสวนและดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่าน น้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทยและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน

นางสาวสุชาดา บุญภักดี นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมประมง กล่าวว่า สำหรับบทบาทของกรมประมงในโครงการน้ำมันเขียว กรมประมงเป็นหนึ่งในกรรมการคณะกรรมการกำกับการจำหน่ายน้ำในเขตต่อเนื่องราชอาณาจักรที่ช่วยในการให้ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินกิจกรรมด้านการประมง เครื่องมือประมง สถานการณ์การประมง ตลอดจนประสานงานกับสมาคมประมง หรือชาวประมงที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร มีหน้าที่พิจารณายกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วย การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๔๐๓) พ.ศ.๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕ และกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการกำหนดคุณสมบัติและตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงว่าเข้าข่ายน้ำมันที่ผิดกฎหมาย ในเชิงคุณภาพหรือไม่ ดังนั้นกรมธุรกิจพลังงานจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนและปกป้องผู้บริโภคจากการใช้น้ำมันเถื่อนที่ด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะน้ำมันปลอมปนสารโซลเว้นท์ ตลอดจนการลักลอบนำน้ำมันที่ได้รับการยกเว้นภาษีมาจำหน่าย ทั้งนี้ การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพนั้นจะเริ่มควบคุมตั้งแต่คลังน้ำมันของผู้ค้า ระบบการขนส่งไปจนถึงสถานีบริการน้ำมันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าน้ำมันที่ใช้นั้นมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีการเสียภาษีและกองทุนฯ อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

“หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. 10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว”

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต

โทร/โทรสาร 0 2241 4778

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ