ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวเปิดประชุม Promoting Schools Gardens and Home Gardens for Better Nutrition in Asia and the Pacific การประชุมครั้งนี้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO/RAP) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไขภาวะโภชนาการของประชากรในชนบทที่ยากจนด้วยการส่งเสริมการทำสวนครัวที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อระบบโภชนาการที่ดีขึ้นในเอเชียและแปซิฟิก มีข้อความสำคัญดังนี้
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังประสบปัญหาทุพโภชนาการ ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาความอดอยากเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะเมื่อประชากรไม่มีอาหารพอเพียงหรือไม่ได้รับคุณประโยชน์อย่างเพียงพอ การพัฒนาทั้งทางร่างกายและสมองก็จะไม่สมบูรณ์ เกิดความเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพมากมายเช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาทุพโภชนาการก็ยังเป็นเรื่องน่าห่วง โดยพบว่าเด็กไทยมีปัญหาทั้งโรคอ้วน เตี้ย ผอม เหตุมาจากพฤติกรรมโภชนาการไม่ถูกต้อง ขาดการออกกำลังกาย เมื่อสุขภาพไม่ดี ก็ส่งผลให้ผลการเรียนไม่ดีไปด้วย อีกทั้งปัญหาทุพโภชนาการในพื้นที่ธุรกันดารก็ส่งผลให้เด็กๆ เป็นโรคขาดสารอาหาร ร่างกายไม่พร้อมที่จะเรียนหนังสือ
จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพบว่า เด็กไทยมีสัดส่วนไม่ได้มาตรฐาน มีน้ำหนักและสัดส่วนสูง ต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องสอดคล้องกับผลสำรวจภาวะทุพโภชนาการ ของกรมอนามัย เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินงานพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพของนักเรียน โดยมีกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการเกษตรในโรงเรียน โดยมีการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการและด้านเกษตรกรรมให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง รวมทั้งชุมชน ให้มีความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและมีความรู้ด้านเกษตรกรรม
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงปัญหาความอดอยากที่ส่งผลกระทบต่อความหิวโหยของเด็กนักเรียน จึงได้ดำเนินโครงการเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมผลผลิตเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2543 (ค.ศ. 2000) ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาหารกลางวันร้อยเปอร์เซ็นต์ มีวัตถุประสงค์ให้เด็กทุกคนได้มีอาหารกลางวันรับประทานอิ่มทุกวัน และมุ่งหวังให้โรงเรียนบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้คงอยู่ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า โครงการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับส่งเสริมผลผลิต เพื่อโครงการอาหารกลางวันเป็นเงินที่จัดสรรให้กับโรงเรียนประถมศึกษา สร้างผลผลิตและรายได้เพื่อนำไปสนับสนุนให้แก่นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวัน
ในส่วนของการทำสวนครัวในโรงเรียนนั้น โรงเรียนหลายแห่งจะมีกิจกรรมด้านการเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน โดยจะมีการสอนทำแปลงเกษตร หรืออาจมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อฝึกให้เด็กนักเรียนมีความรับผิดชอบ มีความรู้ และส่งเสริมวิชาชีพได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่สถานศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้ ผู้บริหารองค์กร ครู ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรด้านการศึกษา และนักเรียน นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำหลักคิด หลักปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการในการบริหารจัดการ การเรียนการสอน ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันก่อให้เกิดความตระหนักทั้งภายในตนเอง และผู้อื่น อย่างยั่งยืนตลอดไป ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งได้นำแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมด้านเกษตรกรรมเพื่อให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และได้ขยายแนวปฏิบัติไปยังชุมชนด้วย
ในท้ายสุดนี้ ผมขอให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี โดยกระทรวงศึกษาธิการยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกผักสวนครัวและที่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการลดปัญหาความอดอยากและทุพโภชนาการเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมด้านเกษตรกรรมของท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน รวมทั้งขยายความร่วมมือไปยังชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนอีกด้วย จึงขอให้การประชุมครั้งนี้ ทุกท่านได้รับความรู้ ประโยชน์ที่จะนำกลับไปต่อยอดกิจกรรมต่อไป
อุษา/สรุป
ข้อมูล/สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
กิตติกร/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th