รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำของผู้ที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ (ออทิสติก สมาธิสั้น แอลดี) ระหว่าง สอศ. ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยสารพัดช่าง 6 แห่ง คือ วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง พระนคร สี่พระยา ธนบุรี สมุทรปราการ และเชียงใหม่
โครงการนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ยุติทางการเรียนในระดับชั้น ม.3 โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางระบบการจัดการศึกษาสายอาชีพ กล่าวคือ สสค.ที่จะเป็นหน่วยประสานเครือข่ายผู้ปกครองเด็กพิเศษ, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะทำการวิจัยและวางระบบการเรียนการสอนสายอาชีพให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ รวมทั้งปรับรูปแบบการสอนของครู กิจกรรมในการส่งเสริมที่เหมาะสม
ขณะนี้มีสาขาที่เปิดสอนแล้วคือ สาขาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น อาหาร ขนม ศิลปประดิษฐ์ ช่างสีตัวถังรถยนต์ เป็นต้น ส่วนสาขาที่จะเปิดสอนต่อไปนั้น ก็จะใช้งานวิจัยนำร่องเป็นฐานความรู้ที่จะขยายสาขาการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อไป
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า รูปแบบจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยสารพัดช่าง จะมีความยืดหยุ่นสูงสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ โดยเป็นการฝึกทักษะการประกอบวิชาชีพ สามารถเลือกเรียนสาขาอาชีพที่หลากหลายตามความสนใจ และสามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อเทียบโอนวุฒิการศึกษาในระดับ ปวช. ตามศักยภาพและความสามารถรายบุคคล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ โดยมีการทดลองเรียนในหลักสูตรระยะสั้น การอบรมพัฒนาครูและผู้บริหารให้มีความรู้ความเข้าใจในการสอน การประเมิน การเทียบโอน เพื่อใช้ในการขยายผลในยังสถานศึกษาอื่นๆ ต่อไป
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ซึ่งส่วนใหญ่ยุติการเรียนในระดับชั้น ม.3 ถึงร้อยละ 75 โดยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ การลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นโจทย์สำคัญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมปรับเงินอุดหนุนรายหัวตามสภาพผู้เรียนที่มีความจำเป็น หากเป็นเด็กยากจนหรือเด็กพิเศษ จะต้องมีเงินต่อหัวเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้จริง หรือการกระจายบทบาทให้มีทางเลือกในการจัดการศึกษามากขึ้น เช่น การศึกษาทางเลือก ในการเข้ามาร่วมจัดการศึกษาแก่เด็กกลุ่มพิเศษ ตลอดจนพัฒนาให้เกิดกลไกจังหวัดและท้องถิ่น รวมทั้งเตรียมขยายระบบการเชื่อมต่อข้อมูลเด็กตั้งแต่โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็กและท้องถิ่นไปจนถึงโรงเรียน เพื่อเป็นการส่งต่อการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือต้องดูแลเป็นพิเศษได้ทันท่วงทีและมีระบบการดูแลที่ต่อเนื่อง ซึ่ง สสค.ได้นำร่องในระดับพื้นที่ไปแล้ว
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th